เดลีเมล์ รายงานว่างานวิจัยทดสอบ “ยารักษามะเร็งลำไส้” ที่ศูนย์มะเร็งเมมโมเรียล สโลน เคตเทอร์ริ่ง (Memorial Sloan Kettering Cancer Center) ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พบว่าสามารถรักษามะเร็งลำไส้ในผู้ป่วยกลุ่มตัวอย่างได้ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นความสำเร็จที่เหนือความคาดหมาย และกลายเป็นความหวังว่าอาจเป็นยารักษาสำหรับผู้ป่วยมะเร็งชนิดอื่นๆ ได้ด้วย
.
งานวิจัยดังกล่าวเป็นการทดลองเชิงคลินิกสำหรับยา “ดอสตาร์ลิแมบ” (Dostarlimab) ยาในกลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal Antibody) ที่อังกฤษอนุมัติให้ใช้รักษามะเร็งโพรงมดลูกไปก่อนหน้านี้ โดยยาดังกล่าวจะทำงานด้วยการเปิดเผยเซลล์มะเร็งจากที่หลบซ่อนและให้ภูมิต้านทานของร่างกายเข้าไปทำลายเซลล์ดังกล่าวได้
.
โดยการทดลองครั้งนี้พบว่าผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ที่เข้าร่วมทดลองเชิงคลินิกกับยาดอสตาร์ลิแมบ 18 คน หลังจากสิ้นสุดโครงการ 1 ปี ทุกคนหายจากมะเร็งลำไส้โดยสิ้นเชิงทั้งหมด โดยแพทย์ไม่พบสัญญาณมะเร็งเหลืออยู่ในร่างกายอีกต่อไป
.
ทั้งนี้ การรักษาโดยใช้ยาดังกล่าวจะใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งที่มีความผิดปกติในยีนแบบเฉพาะที่เรียกว่า MMRd หรือ MSI อาการที่จะพบในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ 5 ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ รวมไปถึงผู้ป่วยมะเร็งในการทดลองเชิงคลินิกครั้งนี้ทั้งหมด
.
นายแพทย์หลุยส์ ดิอาส หนึ่งในหัวหน้าทีมวิจัยนี้ และยังเป็นสมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านโรคมะเร็งแห่งชาติ ของทำเนียบขาว สหรัฐอเมริกา ระบุว่า การค้นพบดังกล่าวเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น และจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมว่าจะสามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งในแบบอื่นๆ ได้หรือไม่ เพื่อหลีกเลี่ยงการรักษาที่ส่งผลกระทบกับร่างกายอย่างหนัก เช่น การทำคีโม หรือการผ่าตัด เป็นต้น
.
อย่างไรก็ตาม แม้การค้นพบดังกล่าวจะเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ไปสู่หนทางรักษาโรคมะเร็ง แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะประกาศว่ายาดังกล่าวเป็นยาแห่งปาฏิหาริย์ เนื่องจากการศึกษาดังกล่าวยังมีกลุ่มตัวอย่างจำนวนน้อย