เป็นที่ทราบกันว่า “เจ้าฟ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก” พระโอรสองค์ที่2 ในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่2 แห่งสหราชอาณาจักร เป็น “ลูกรัก” ของทูลกระหม่อมพระราชมารดาเพียงใด เจ้าฟ้าชายพระองค์นี้รุ่มรวยไปด้วยเสน่ห์มาตั้งแต่เล็กๆ พระอุปนิสัยร่าเริงเปิดเผย และทรงเป็นทหารหาญ เป็นวีรบุรุษสงคราม แต่ทั้งหมดกลายเป็น “สิ่งที่ไม่มีความหมาย” จนหมดสิ้น หากหักกลบลบหนี้ในสิ่งที่พระองค์ทำ จากพระโอรสองค์โปรด กลายเป็นตกตุ้บ! ไม่มีโอกาสเข้าร่วมพิธีการอันศักดิ์สิทธิ์สง่างามอย่างงาน “ราชอัศวินคาร์เตอร์” เพราะพรินซ์วิลเลียมยื่นคำขาดต่อสมเด็จพระราชินีว่า “him or me” แปลว่า…หากมีสมเด็จอา ก็จะไม่มีหม่อมฉัน ในพิธีใหญ่นี้!
.
เพื่อให้เข้าในอย่างถ่องแท้ #CocoNews จำเป็นต้องย้อนเล่าไปถึงพระราชประวัติของเจ้าฟ้าองค์นี้ (ที่บัดนี้ไม่ได้ใช้พระยศเจ้าฟ้าอีกต่อไป) เสียก่อน


.
เจ้าฟ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก (The Prince Andrew, Duke of York) หรือพระนามเต็ม “แอนดรูว์ อัลเบิร์ต คริสเตียน เอ็ดเวิร์ด เมานต์แบ็ตเต็น-วินด์เซอร์” ประสูติ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503 เป็นสมาชิกในราชวงศ์วินด์เซอร์และเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่สองในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร และเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระองค์ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นดยุกแห่งยอร์กมาตั้งแต่ พ.ศ. 2529 พระนาม “แอนดรูว์” ได้มาจากเจ้าชายแอนดรูว์แห่งกรีซและเดนมาร์ก พระอัยกาฝ่ายพระราชบิดาซึ่งสิ้นพระชนม์ไปเมื่อ 16 ปีก่อนพระองค์ประสูติ
.
เจ้าฟ้าชายแอนดรูว์เสกสมรส ซาราห์ เฟอร์กูสัน มีพระธิดาด้วยกัน 2 พระองค์คือเจ้าหญิงเบียทริซและเจ้าหญิงยูเจนี อย่างไรก็ตาม ภายหลังทรงหย่าร้าง
.
ทูลกระหม่อมพระราชมารดา ทรงมีพระราชโอรสองค์โตคือเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ (ชาร์ลส์ ฟิลิป อาร์เธอร์ จอร์จ) เจ้าชายแห่งเวลส์ พระราชบิดาของเจ้าชายวิลเลียม ดยุคแห่งเคมบริดจ์ และเจ้าชายแฮรี่ จากนั้นก็มีพระราชธิดาองค์ที่2 และเป็นพระราชธิดาเพียงองค์เดียวคือเจ้าหญิงแอน (แอนน์ อีลิซาเบท อลิซ หลุยส์) ส่วนเจ้าฟ้าชายแอนดรูว์นั้น ถ้าภาษาสามัญคือ เป็น “ลูกคนที่3” แต่นับเป็น “ลูกชายคนที่2” พระอุปนิสัยต่างจากเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ยิ่ง ในขณะที่พระเชษฐาทรงเคร่งขรึม ขี้อาย พูดน้อย โปรดหนังสือและการละคร เจ้าฟ้าชายแอนดรูว์ มากล้นด้วยเสน่ห์ มีตาสีฟ้า ผมบลอนด์ หล่อเหลา สาวๆ หลายคนชื่นชอบนิยมนัก อีกทั้งเจ้าตัวยังชอบทำตัวติดดิน และอยากให้คนอื่นเรียกตัวเองว่า ‘แอนดี้’ ทรงร่าเริงแจ่มใส โปรดการทหาร แถมเกิดมาในช่วงที่ทูลกระหม่อมพระราชมารดาบริหารราชการแผ่นดินผ่านพ้นวิกฤติและค่อนข้างเป็นปึกแผ่น มีเวลาเลี้ยงดูเอาใจใส่มาก เป็นพระราชโอรสที่สนิทสนมและใกล้ชิดทูลกระหม่อมพระราชมารดาจนเป็นที่รู้จักดีว่าเป็น “ลูกรัก” มากกว่าพระราชโอรส-ธิดาเจ้าพี่เจ้าน้องทุกพระองค์


.
เมื่อเจริญพระชนม์ขึ้นเจ้าฟ้าชายแห่งยอร์ก ได้ทรงปฏิบัติราชการในราชนาวีอังกฤษ ทรงขับเฮลิคอปเตอร์ โดยทรงเข้าร่วมทำการรบในสงครามฟอล์กแลนด์บนเรือหลวง HMS Invincible ที่อังกฤษยกทัพข้ามมหาสมุทรไปยึดเกาะคืนจากอาร์เจนตินา การเข้าร่วมทำศึกนี้เอง ที่ทำให้เจ้าชายแอนดรูว์ได้รับความนิยมอย่างมาก ในฐานะเป็น “วีรบุรุษสงคราม” จนถึงขั้นถูกเรียกขานว่า ‘Golden Boy’
.
แต่ความหอมหวานและความภาคภูมิใจนี้มิได้คงทนถาวร เพราะต่อมาสิ่งที่พระองค์ทำ คือการกระทำที่ทำให้พระราชวงศ์เสื่อมเสียลงเรื่อยๆ แม้จะเป็นพระโอรสขององค์พระประมุขแห่งสหราชอาณาจักร ที่จากเดิมเป็นรัชทายาทอันดับ2ต่อจากพี่ชาย (เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์) แต่ภายหลังเมื่อเจ้าฟ้าชายและเจ้าหญิงไดอาน่าแห่งเวลส์ มีพระประสูติกาลพระราชโอรส 2 พระองค์ คือเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮรี่ และจำเนียรกาลผ่านไป ทำให้ลำดับโปเจียมของพระองค์ตกลงมาเรื่อย และไม่ใช้รัชทายาทอันดับแรกๆ ดังนั้นเงินอุดหนุนจากรัฐบาลก็น้อยลงไปตามส่วน แน่นอนว่าเจ้าชายสหายมากและโปรดปาร์ตี้ รวมถึงชีวิตหรูหราไม่พอใช้ แถมการหย่ากันระหว่างพระองค์และซาราห์ ฟอร์กูสัน ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงในการฟ้องร้อง นั่นนำพาให้พระองค์มารู้จักมหาเศรษฐีผู้อื้อฉาวนาม “เจฟฟรีย์ เอปสตีน” บุรุษผู้นำพาหายนะเข้ามาหาพระองค์ เพราะนอกจากเป็นมหาเศรษฐีแล้ว เจฟฟรีย์ถูกรู้จักในนาม “พ่อค้ากามชื่อดัง”
.
เจ้าฟ้าชายและเจฟฟรีย์สนิทกันมาก และเมื่อพระองค์เป็นโสด ก็ไม่จำเป็นต้องระวังเรื่องชีวิตส่วนตัวกับสตรี แต่ความบรรลัยบังเกิดเมื่อเจ้าฟ้าชายดันไปมีเพศสัมพันธ์กับสาวน้อยผู้หนึ่งบนเกาะส่วนตัวของเจฟฟรีย์ มันจะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ถ้าสาวน้อยคนนั้นบรรลุนิติภาวะ!
.
และเมื่อสาวน้อยคนนั้นฟ้อง ทำให้เจ้าฟ้าชายแห่งเกาะอังกฤษฉาวโฉ่ไปทั้งโลกในฐานะ “ผู้ต้องหาคดีพรากผู้เยาว์” แน่นอนว่าเป็นที่น่ารังเกียจของสังคมแห่งดินแดนผู้ดีอย่างอังกฤษ


.
เจฟฟรีย์เองก็โดนข้อหานี้ และมีคดีค้ามนุษย์เพื่ออาชญากรรมทางเพศ ซึ่งทำให้เจ้าฟ้าชายเข้าไปพัวพันด้วย เจฟฟรีย์เลือกผูกคอตายหนีความผิดในเรือนจำที่แมนฮัตตันหลังถูกจับกุม และทำให้สปอตไลท์กลิ่นคาวเหม็นโฉ่มาตกลงในแอนดรูว์เพียงพระองค์เดียว
.
ด้วยกฎหมายของรัฐนิวยอร์ก ที่เอื้อให้เหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศวัยเด็กสามารถดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุได้
.
เวอร์จิเนียร์ จุฟเฟร คือผู้เยาว์คนนั้น เธออ้างว่าเธอถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์กับเจ้าชายแอนดรูว์ตอนอายุ 17 ปี ซึ่งยังถือว่าเป็น “ผู้เยาว์” ภายใต้กฎหมายสหรัฐฯ หลังจากที่ได้พบปะกับพระองค์ผ่านทางเจฟฟรีย์ เอปสตีน
.
จุฟเฟร ซึ่งเวลานี้อายุ 38 ปี และอาศัยอยู่ที่ออสเตรเลีย อ้างว่าเธอถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์กับเจ้าชายเมื่อกว่า 2 ทศวรรษที่แล้ว ทั้งที่บ้านในลอนดอนของ กิสเลน แม็กซ์เวลล์ (Ghislane Maxwell) คนสนิทของเจฟฟรีย์ ที่แมนชันของ เอปสตีน ในแมนฮัตตัน และที่เกาะส่วนตัวของเจฟฟรีย์ ในหมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐฯ
.
เธอได้ยื่นฟ้องเจ้าชายแอนดรูว์เมื่อปีที่แล้ว พร้อมเรียกค่าเสียหายที่ไม่เจาะจงภายใต้กฎหมาย Child Victims’ Act ของนิวยอร์ก โดยอ้างว่าตัวเธอเองเป็นเหยื่อการค้าประเวณีผ่านทางการจัดหาของเจฟฟรีย์และ แม็กซ์เวลล์
.
จุฟเฟร ระบุในเอกสารคำร้องว่า เธอเคยถูก แม็กซ์เวลล์ บังคับให้ “นั่งตัก” เจ้าชายแอนดรูว์ และถูกพระองค์สัมผัสร่างกายที่แมนฮัตตัน หลังจากนั้นเจ้าชายยังบังคับให้เธอมีเซ็กซ์โดยไม่เต็มใจ
.
เธอยังอ้างว่า “กลัวจะถูกฆ่า ถูกโดนทำร้าย หรือโดนแก้แค้นด้วยวิธีการอื่นๆ หากไม่ยอมทำตามคำสั่งของเอปสตีน แม็กซ์เวลล์ และเจ้าชายแอนดรูว์ เนื่องจากคนเหล่านี้ล้วนเป็นผู้มีอิทธิพล มีเส้นสาย และมีฐานะร่ำรวยมาก”
.
แน่นอนความความอื้อฉาวคาวโฉ่ระดับนี้ของ “ลูกรัก” ทำให้ควีนผ่อนความรักนั้นลงเพื่อรักษาพระราชวงศ์อันมีประวัติยาวนาน ความเกรียงไกรแห่งวินเซอร์ต้องมิถูกทำลายเพราะลูกชายเพียงคนเดียว
.
ทหารผ่านศึกกว่า 100 คนได้ร่วมกันลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้ราชวงศ์อังกฤษปลดดยุกแห่งยอร์กออกจากยศทางทหารทั้ง 8 ตำแหน่ง รวมถึงตำแหน่งพันเอกแห่งกองทหารราบ เกรเนเดียร์ การ์ด (Grenadier Guards) ซึ่งเป็นหนึ่งในตำแหน่งที่อาวุโสที่สุดของกองทัพอังกฤษด้วย
.
ไม้เรียวจากคนเป็นแม่ เฆี่ยนลงมาด้วยโทษานุโทษ…สำนักพระราชวังบักกิงแฮมก็ออกแถลงการณ์โดยระบุว่า ตำแหน่งทางกองทัพ ไปจนถึงหน่วยงานในพระอุปถัมภ์ของเจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก จะถูกโอนคืนสู่สมเด็จพระราชินี ซึ่งระหว่างนี้ เจ้าชายแอนดรูว์จะไม่ปฏิบัติพระกรณียกิจใดๆ และจะต่อสู้คดีในฐานะของสามัญชน รวมถึงการถอดเจ้าชายแอนดรูว์จากพระยศที่ได้มาตั้งแต่แรกเกิด คือ ‘เจ้าฟ้า’ หรือ ‘His Royal Highness’ นับแต่บัดนั้น พระยศถูกริบทิ้งสิ้น!
.
ยังไม่จบ ความอับอายขายขี้หน้ายังมีต่อไป เมื่อไม่นานมานี้ “สภาเมืองยอร์ก” ประเทศอังกฤษลงมติด้วยเสียงเป็นเอกฉันท์ สั่งถอด เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุคแห่งยอร์ก จากสถานภาพ Freedom of the City ซึ่งเป็นสถานภาพอันทรงเกียรติ ที่เจ้าชายแอนดรูว์ได้รับการถวายจากสภาเมืองยอร์ก เมื่อปี 2530 หลังจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระมารดาโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็น ดยุคแห่งยอร์ก ซึ่งเจ้าชายแอนดรูว์ เป็นบุคคลแรกที่ถูกถอดออกจากสถานภาพอันทรงเกียรตินี้
.
เจ้าชายจำเป็นจะต้อง “เคลียร์” ปัญหานี้ให้จบก่อนจะถึงพระราชพิธีอันมโหฬารที่สุด นั่นคือการฉลองครองราชย์ครบ 70 ปี ของทูลกระหม่อมพระราชมารดา
.
ในที่สุดก่อนการจัดงานไม่นานนัด เจ้าชายก็ปิดจบคดีได้ด้วยการ “จ่าย” เงินก้อนโตให้เหยื่อ โดยไม่บอกตัวเลข ทว่าหนังสือพิมพ์เดลีเทเลกราฟได้ออกมาให้ตัวเลข “ค่าปิดคดี” ของเจ้าชายแอนดรูว์ว่าสูงถึง 12 ล้านปอนด์ (ราว 526 ล้านบาท) โดยแบ่งเป็นเงินที่จ่ายให้แก่ เหยื่อสาว จำนวน 10 ล้านปอนด์ และอีก 2 ล้านปอนด์ที่จะบริจาคเข้ามูลนิธิช่วยเหลือเหยื่อการค้าประเวณี เดลีเทเลกราฟ ยังอ้างว่าเงินทั้งหมดนี้มาจาก “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ขณะที่นักวิจารณ์บางคนเรียกร้องให้มีการเปิดเผยแหล่งที่มาของเงินว่ามีการนำเอา “ภาษี” ของชาวอังกฤษไปใช้ด้วยหรือไม่
.
งานฉลองสมเด็จพระราชีนีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งราชอาณาจักรผ่านพ้นไปอย่างแสนสง่างาม แต่ที่สังเกตได้ชัดคือ ทรงยืนหนึ่งในสถานะ “ประมุขแห่งรัฐ” และทรงนึกถึงราชวงศ์มากกว่าอื่นใดซึ่งเป็นสิ่งที่พระองค์กระทำมาเสมอตลอดพระชนม์ชีพ แม้เจ้าชายแฮรี่ โอรสพระองค์เล็กในเจ้าฟ้าชายชาร์ลส ที่ลาออกจากราชวงศ์ไปอาศัยในดินแดนอเมริกา จะกลับมาพร้อมเมียและลูก นัยว่าจะให้ธิดาที่เกิดกับเมแกน มาเคิล ที่ถูกตั้งชื่อตามชื่อเล่นของควีนว่า “ลิลิเบธ” มาเจอทูลกระหม่อมย่า ก็ไม่ได้รับการเหลียวแลในฐานะ “หลานรัก” อีกต่อไป เจ้าชายแฮรี่ที่เซ็นสัญญากับเน็ตฟลิกซ์ถูกเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังสกัดทีมกล้องในทุกช่องทาง ไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ร่วมเสด็จออกสีหบัญชร แม้การพบกับหลานย่า “ลิลิเบธ” ก็ไม่ให้เอาช่างภาพเข้าไป ให้เวลาพบเพียง 15 นาทีอย่างเป็นทางการ และไม่ได้ประทับในฟรอนท์โรว์กับพ่อและพี่ชาย ไม่มีภาพการปฏิสัมพันธ์ระหว่างเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮรี่ออกไปในสื่อไหน แน่นอน เพราะก่อนหน้านี้เจ้าชายแฮรี่ไปออกรายการของโอปราห์ วินฟรีห์ และให้สัมภาษณ์ในทางลบต่อราชวงศ์ตนเอง พี่ชายตนเอง เป็นเหตุให้ต้องรับผลกรรมและได้รับการต้อนรับอย่าง “ห่างเหิน”
.
กลับมาที่เจ้าชายแอนดรูว์ผู้ที่ไม่ได้เป็นลูกรักอีกต่อไป ภายหลังจากการฉลองครองราชย์ 70 ปี ของควีนผ่านไป ก็จะถึงพระราชพิธีแสนสำคัญอย่างวาระหนึ่ง นั่นคือ พระราชพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์ ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงที่สุดในสหราชอาณาจักร และเก่าแก่ที่สุดในโลก ด้วยมีอายุกว่า 700 ปี มีกำเนิดเมื่อปี ค.ศ. 1348 โดยกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่สาม พระราชพิธีจัดขึ้น ณ วิหารเซนต์จอร์จ เมืองวินด์เซอร์ ซึ่งนัยยะแห่งการแต่งตั้งเป็นอัศวินหลวงแห่งการ์เตอร์ เพื่อแสดงความสำคัญของพระองค์ในราชวงศ์อังกฤษ
.
สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบ็ธที่สอง พระราชทานตำแหน่ง” อัศวินหลวงแห่งการ์เตอร์”( Royal Knight of the Garter) ซึ่งเป็นตำแหน่งอัศวินชั้นสูงสุด ให้กับเจ้าชายวิลเลียม พระราชนัดดา เมื่อพ.ศ.2551 หลังจากเจ้าชายวิลเลียม ผู้เป็นรัชทายาทอันดับสองของราชวงศ์อังกฤษ มีพระชนมายุครบ 26 ชันษา ทรงเป็นอัศวินหลวงแห่งการ์เตอร์ลำดับที่ 1,000 พอดี
.
ก่อนหน้านี้ ในวันสิ้นปีของพ.ศ. 2564 (31 ธ.ค.) สมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษทรงมีพระบรมราชโองการ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งการ์เตอร์ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของอังกฤษแด่คามิลลา ชายาในเจ้าฟ้าชายชาร์ลส มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษ จากความจงรักภักดีและปฏิบัติตัวต่อสมเด็จพระราชินีอย่างสุขุมรอบคอบ เป็นเครื่องชี้แสดงการยอมรับและเปิดทางให้คามิลลาขึ้นเป็น Queen Consort หากเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์มกุฏราชกุมาร รัชทายาทอันดับ 1 ขึ้นครองราชบัลลังก์
.
อนึ่ง พระบรมวงศานุวงศ์ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ ชั้นนี้ ได้แก่ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส เจ้าหญิงแอนน์ เจ้าชายแอนดรูว์ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด และเจ้าชายวิลเลียม และการพระราชทานเครื่องราชฯ ชั้นสูงสุดให้คามิลลา ผู้เสกสมรสกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลสในปี 2548 เกิดขึ้นหลังจากเธอช่วยแบ่งเบาพระราชภารกิจได้อย่างโดดเด่นในช่วงหลายปีหลัง อีกทั้งคะแนนนิยมยังสูงขึ้นเรื่อยๆ
.
นอกจากนี้เครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งการ์เตอร์ยังรวมถึงผู้ที่ไม่ได้เป็นเชื้อพระวงศ์อีกไม่เกิน 24 คนเป็นไปโดยพระบรมราชวินิจฉัยของควีน พระราชทานให้กับผู้ที่รับใช้สังคมอย่างโดดเด่นและประสบความสำเร็จ ล่าสุดได้แก่นายโทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีจากพรรคแรงงานได้รับบรรดาศักดิ์อัศวิน เช่นเดียวกับอดีตนายกฯ จอห์น เมเจอร์ จากพรรคอนุรักษนิยมที่ได้เป็นอัศวินเมื่อปีพ.ศ. 2548
.
สำหรับปีนี้ แน่นอนว่าสื่อทุกแขนงของเกาะอังกฤษหรือกระทั่งสื่อจากทั่วโลก จับจ้องว่า หนึ่งในอัศวินการ์เตอร์ผู้อื้อฉาวอย่าง “เจ้าชายแอนดรูว์” ผู้ก่อเรื่องทำให้ราชวงศ์มัวหมองจะเข้าร่วมพระราชพิธีอันศักดิ์สิทธิ์นี้หรือไม่
.
กระแสเล่าลือในสื่อแท็บลอยด์ทั้งปวงของอังกฤษระบุว่า พระนามของเจ้าชายแอนดรูว์ถูกตัดออกบัญชีรายชื่อแบบว่าแทบจะนาทีท้ายๆ สืบเนื่องจากการที่เจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งเคมบริดจ์ ทรงเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถฯ และคัดค้านที่เสด็จอาแอนดรูว์จะได้ปรากฏพระองค์ในพระราชพิธีแห่เฉลิมฉลองวันอัศวินการ์เตอร์ โดยทรงให้ความสำคัญต่อภาพลักษณ์ที่เสด็จอาพัวพันอยู่กับอาชญากรนักค้ามนุษย์ และอาชญากรรมทางเพศ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อภาพลักษณ์โดยรวมของสถาบันกษัตริย์ที่เพิ่งประสบความสำเร็จล้นหลามในงานพระราชพิธีฉลองครองราช 70 ปีขององค์พระประมุข
.
“him or me” คือประโยคที่เมาท์กันสนั่นว่าเป็นคำกราบบังคมทูลสั้นๆ จากเจ้าชายวิลเลียมถึงควีน
.
“ถ้ามีเสด็จอา ก็จะไม่มีหม่อมฉัน” (ในพระราชพิธีนี้)
.
ดยุกแห่งเคมบริดจ์ พระโอรสพระองค์โตของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ทรงกราบทูลสมเด็จย่าว่าพระองค์จะถอนตัวจากพระราชพิธีแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์ หากดยุกแห่งยอร์ก ผู้ทรงเป็นเสด็จอา ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ร่วมในขบวนพิธีเฉลิมฉลองของอัศวินและเลดี้แห่งการ์เตอร์ เพราะนั่นก็คือช่องทางหวนกลับสู่เวทีสาธารณะพร้อมหน้ากับพระราชวงศ์ เว็บไซต์ข่าวมากมายรายงานอย่างนั้น อาทิ ค่ายเอ็กซ์เพรส สื่อเจ้าใหญ่แห่งแวดวงข่าวราชสำนักอังกฤษ
.
พร้อมนี้ ดิเอ็กซ์เพรสระบุด้วยว่า การที่เจ้าชายวิลเลียมทรงออกโรงคัดค้านอย่างจริงจังขนาดนี้ ก็ย่อมจะทำให้ไม่น่าจะเป็นไปได้แล้วที่พระโอรสพระองค์ที่สองของควีนเอลิซาเบธจะประสบความสำเร็จในความพยายามหวนกลับสู่แวดวงพระราชพิธีต่างๆ ของราชสำนัก
.
เจ้าชายวิลเลียมที่โลกเห็น ทรงสุภาพ ยิ้มอย่างถอดแบบพระมารดา มีกาละเทศะ ทรงเป็นสุภาพบุรุษ ประสบความสำเร็จทั้งการเรียน การงาน และชีวิตคู่ ทรงมีพระอิริยาบถไปในทางอ่อนโยน แม้ทรงมีพระราชภารกิจด้านการทหาร และโปรดกีฬา
.
แต่ความเด็ดเดี่ยวในครั้งนี้ ถือว่าทรงยึดพระราชวงศ์เป็นที่ตั้งอันเป็นพระราชปณิธานเดียวกับองค์พระประมุข นั่นทำให้ควีนตัดชื่อ “อดีตลูกรัก” เราจึงไม่ได้มีโอกาสเห็น “เจ้าชายแอนดรูว์ผู้อื้อฉาว” ในฉลองพระองค์คลุมที่น้ำเงินแสนสง่าและขนนกสีขาวบนพระมาลาดำอย่างโก้
.
นี่อาจจะเป็นการตอกย้ำข่าวลือเรื่องการจะส่งเจ้าชายแอนดรูว์ไปเก็บตัวเงียบๆ หลังจากทรง “ทำเรื่อง” เอาไว้จนพังพินาศ ณ สก็อตแลนด์อีกด้วย
.
นอกจากนั้น สื่อค่ายใหญ่อย่างดิอีฟนิ่งสแตนดาร์ด ย้ำไว้ในเนื้อข่าวด้วยว่าดยุกแห่งเคมบริดจ์ทรงแน่วแน่ไม่ยอมประนีประนอมในเรื่องนี้

“หากดยุกแห่งยอร์กทรงยืนกรานที่จะเข้าร่วมพระราชกิจให้เป็นที่ประจักษ์สายตาของประชาชน เจ้าชายวิลเลียมจะทรงถอนพระองค์และไม่ร่วมในพระราชพิธีนี้” ดิอีฟนิ่งสแตนดาร์ดรายงานอยางนั้น

ผลปรากฏออกมาว่าสมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงอนุมัติตามคำกราบทูลของเจ้าชายวิลเลียม

เจ้าหน้าที่รายหนึ่งในคณะโฆษกสำนักพระราชวังบัคกิงแฮมกล่าวว่า “ดยุกแห่งยอร์กจะเข้าร่วมเฉพาะพระราชพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์ กับงานเลี้ยงพระกระยาหารกลางวัน แต่จะไม่ทรงเข้าร่วมในขบวนแห่ ตลอดจนไม่เข้าร่วมในพิธีมิสซาถวายพระพรควีนเอลิซาเบธ”

ด้านบรรณาธิการคนดังของค่ายเดลีเมล์นาม ริชาร์ด เอเดน เขียนขึ้นทวิตเตอร์ว่า “เจ้าชายวิลเลียมทรงทำได้ดียิ่ง”

ราชวงศ์ #วินเซอร์ #garter #knightgarter #knight #PrinceWilliam #Queen #PlatinumJubilee #PrinceAndrew