คำพิพากษาโดยละเอียด ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ สั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชดใช้ 3.8 ล้านบาท กรณี 7 ตำรวจปราจีนบุรี ใช้ถุงคลุมหัวเด็กอายุ 18 แถมเป็นนักเรียนดีเด่น โดนทารุณกรรม ซ้อมบังคับให้รับสารภาพคดีวิ่งราวทรัพย์ทั้งที่ไม่ได้ทำ
.
เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลเเพ่งกรุงเทพใต้ อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ พ. 949/2560 ที่ นายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ผู้เสียหายจากการซ้อมทรมาน ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ข้อหาละเมิดตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เรียกค่าเสียหาย จำนวน 20,800,000 บาท
.
จากกรณีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ กองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรีทั้ง 7 คน ทำร้ายทรมานร่างกาย เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2552 เพื่อบังคับให้รับสารภาพในคดีวิ่งราวทรัพย์หญิงคนหนึ่งในพื้นที่ ซึ่ง นายฤทธิรงค์ ไม่ได้เป็นผู้กระทำ
.
ศาลพิเคราะห์เเล้วเห็นว่า บาดแผลตามเนื้อตัว ร่างกายโจทก์ตามผลการชันสูตรบาดแผลหรือศพของแพทย์ผู้ตรวจบาดแผล โจทก์ระบุว่า ตรวจพบกดเจ็บที่ข้อมือสองข้าง กดเจ็บที่คอด้านหลัง ไม่พบบาดแผล บาดแผลถลอกที่ท้อง ด้านซ้ายบน กดเจ็บที่ท้องด้านซ้ายบน ใช้เวลารักษาสามวัน ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน แพทย์พบเพียง บาดแผลถลอกที่ท้องด้านซ้ายบน แต่โจทก์ก็เบิกความด้วยว่าโจทก์ถูกพันตำรวจโท วชิรพันธุ์ ทำร้ายโจทก์ โดยใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะและมัดรวบด้านหลังทำให้ขาดอากาศหายใจ โดยกระทำซ้ำๆ หลายครั้ง ทั้งยังใช้ถุงหลายใบครอบทับกันหลายชั้น จนขาดอากาศมีอาการชักเกรง ดิ้นทุรนทุราย รวมทั้งใช้เข่ากด บริเวณลำตัวไม่ให้ดิ้นรน ทั้งข่มขู่ว่าหากโจทก์ไม่รับสารภาพ ถ้าโจทก์ตายก็จะนำไปโยนทิ้งที่เขาอีโต้ และจะเป็นเพียงคดีคนหายเท่านั้น เพียงเพื่อให้โจทก์รับสารภาพว่าได้กระทำความผิดอาญา การกระทำดังกล่าวเป็นการทรมานโจทก์ในฐานะผู้ต้องหาโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อมิให้เกิดร่องรอยบาดแผลบนตัวโจทก์ และเป็นการปกป้องตนเองให้พ้นจากความรับผิดตามกฎหมาย ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามกฎบัตร สหประชาชาติที่ประเทศไทยเป็นภาคีส่งผลกระทบต่อสิทธิผู้ต้องหา หรือจำเลยที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และกระทบกระเทือนต่อกระบวนการยุติธรรม
.
แม้โจทก์ไม่มี พยานหลักฐานแสดงให้เห็นว่าโจทก์เสียหายเป็นจำนวนเท่าใด แต่ศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคหนึ่ง โดยพิจารณาว่า พ.ต.ท.วชิรพันธุ์ (สงวนนามสกุล) เป็นเจ้าพนักงานตำรวจต้องดำเนินการภายใต้ กฎหมาย แต่กลับปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย วิธีปฏิบัติต่อผู้ต้องหาโดยการละเมิดสิทธิผู้ต้องหา และการชดเชยค่าเสียหายเป็นหน้าที่ของรัฐพึงกระทำ เห็นควรกำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน1 ล้านบาท เพื่อสมแก่เหตุที่โจทก์ทุกข์ทรมานและเป็นเยี่ยงอย่างสำหรับป้องกันไม่ให้กระทำความผิดลักษณะนี้อีกในภายภาคหน้าสำหรับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติยศ โจทก์เบิกความว่า ภายหลังเกิดเหตุคดีนี้ โจทก์ถูกพนักงานสอบสวน สภ.อ.ปราจีนบุรี ดำเนินคดีฐานวิ่งราวทรัพย์ ซึ่งเป็นผลโดยตรงมาจากการที่โจทก์ต้องรับสารภาพเนื่องจากถูกทำร้ายร่างกายซ้อมทรมานให้รับสารภาพ ทำให้โจทก์ต้องมีประวัติอาชญากรติดตัวมาจนถึงปัจจุบัน เสื่อมเสีย ชื่อเสียง เกียรติยศ โจทก์ขอค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน1ล้าน บาท นอกจากนี้ โจทก์เบิกความ ขณะเกิดเหตุอายุเพียง 18 ปี กำลังศึกษาอยู่ ม.5 ของโรงเรียนควรจะได้มีการศึกษาที่ดีและมีโอกาสทำงานที่ดี แต่กลับถูกแจ้งความกล่าวหาและกลั่นแกล้งฟ้องดำเนินคดีให้เสี่ยงต้องติดคุกติดตะรางพร้อมประวัติอาชญากร
.
โจทก์เคยได้รางวัลนักเรียนดีเด่นจากโรงเรียนดนตรีสยามกลกาลปราจีนบุรี และโจทก์เคยพยายามศึกษาเล่าเรียนเพื่อสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานแสดงให้เห็นว่าโจทก์เสียหายเป็นจำนวนเท่าใด ศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามที่เห็นสมควร โดยพิจารณาระดับการศึกษา โอกาสในการประกอบอาชีพ รายได้ที่จะได้รับในแต่ละเดือน และผลเสียหายที่เกิดขึ้นจากการตกเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เห็นควรกำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 3 เเสนบาท สำหรับค่าสินไหมทดแทนเพื่อเยียวยาความเสียหายต่อสิทธิเสรีภาพในร่างกายของโจทก์นั้น โจทก์เบิกความว่า การถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวและทำร้ายร่างกายโดยทรมานและทารุณโหดร้าย เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง รัฐจึงต้องตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและชดใช้ เยียวยาในความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่เป็นเงินในจำนวนที่พอจะถือว่าได้รับมาตรการเชิงลงโทษ อันเกิดจากการละเมิดต่อร่างกายของบุคคล เพื่อรัฐได้ปรับปรุงแก้ไข กำกับดูแล วางมาตรการป้องกัน และพัฒนาเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐมิให้เกิดเหตุการณ์ละเมิดต่อบุคคลใดๆ ดังเช่นกรณีนี้อีกต่อไป โจทก์ขอค่าเยียวยาความเสียหายต่อสิทธิเสรีภาพในร่างกายเป็นเงิน 5 ล้านบาทนั้น ความเสียหายที่โจทก์ขอมาเป็นความเสียหายต่อสิทธิเสรีภาพในร่างกายของโจทก์ แต่โจทก์กลับอ้างถึงการทำร้ายร่างกายโดยทรมานและทารุณโหดร้าย อันเป็นความเสียหายต่อร่างกายซึ่งศาลกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์แล้วจึงเป็นการซ้ำซ้อน ทั้งได้ความว่าโจทก์ถูกกักขัง หน่วงเหนี่ยวซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่มีผลการตรวจปัสสาวะโจทก์แล้วไม่พบสารเสพติด เจ้าพนักงานตำรวจจึงปล่อยตัวโจทก์จากกองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรีมาพบพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรเมืองปราจีนบุรี เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้เป็นเงิน 8 หมื่นบาท
.
และสำหรับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายทาง จิตใจ และค่าเสียหายอันมิใช่ตัวเงินเป็นเงิน 5 ล้านบาทนั้น โจทก์เบิกความว่าขณะเกิดเหตุโจทก์ เป็นเพียงผู้เยาว์ แต่ต้องมาประสบพบเจอเหตุการณ์อันเลวร้ายจากการถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว และร่วมกันทำร้ายร่างกายโดยวิธีซ้อม ทรมานและทารุณโหดร้าย โจทก์ตกอยู่ในอาการหวาดกลัว หวาดผวา และหวาดระแวงมาจนถึงปัจจุบัน และต้องติดอยู่ในจิตใจของโจทก์ตลอดไป ทำให้โจทก์ต้องเข้ารับการตรวจและรักษาทางด้านจิตเวชโดยผู้เชี่ยวชาญของสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์
.
เห็นว่า ความเสียหายทางจิตใจถือเป็น ความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 โจทก์มีสิทธิ เรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ได้
.
เมื่อพิเคราะห์ถึงว่าขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นนักเรียน ภายหลังเกิดเหตุโจทก์เริ่มเข้ารับการตรวจกับทางสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ โดย นายแพทย์อภิชาติ แสงสิน จิตแพทย์เจ้าของไข้โจทก์ร่วมกับทีมสหวิชาชีพได้รวบรวมประวัติทั่วไป ประวัติการเจ็บป่วยโจทก์ ตรวจสภาพจิต และทดสอบทางด้านจิตวิทยา แล้วทำรายงานผลการตรวจ วินิจฉัยทางนิติจิตเวชระบุว่า พบว่าโจทก์มีอาการหวาดระแวง มีความเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ซึ่งเป็นโรคที่จัดอยู่ในกลุ่มโรควิตกกังวล ชนิดหนึ่งซึ่งส่งผลต่อการเรียนการเข้าสังคมของโจทก์ และได้ความจากนายแพทย์อภิชาติเบิกความว่า ขณะที่โจทก์เข้ารับการตรวจโจทก์ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันยังพบความหวาดกลัวและความเครียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ ที่โจทก์เคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวและทำร้ายร่างกายอยู่ มีอาการนอนไม่หลับ เครียดการได้เห็นเหตุการณ์หรือข่าวเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาหรือบุคคลที่ถูกควบคุมตัวโจทก์มีอาการหวาดกลัวและหวนคิดถึงเหตุการณ์ที่ตนเคยประสบอยู่ จนโจทก์เกิดความท้อแท้ ไม่กล้าออกจาก บ้านที่ต้องห่างบิดามารดาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบันโจทก์ยังต้องได้รับการรักษาเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูจิตใจอย่างต่อเนื่อง อันแสดงให้เห็นว่าโจทก์ต้องทนทุกข์ทรมานทางกายและทางจิตใจเป็นเวลานาน โรคเครียดอย่างรุนแรงหลังประสบเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (PTSD) ของโจทก์มิใช่เป็นความรู้สึกอันเกิดจาก ภาวะทางอารมณ์ที่ปกติ แม้อาการของโจทก์เกิดขึ้นภายหลังจากเกิดเหตุมาแล้วเป็นเวลา 6 ปี ก็ตาม แต่แพทย์ก็วินิจฉัยแล้วว่าโจทก์ป่วยเป็นโรคเครียดอย่างรุนแรงหลังประสบเหตุการณ์สะเทือนขวัญ
.
จึงเป็นผลโดยตรง จากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยเมื่อพิจารณาประกอบพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว เห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ 2 ล้านบาท
.
โดยค่าสินไหมทดแทน ในส่วนนี้ศาลไม่จำต้องคำนึงถึงฐานะและรายได้ของผู้เสียหายแต่อย่างใด รวมเป็นค่าสินไหมทดแทน ทั้งสิ้นเป็นเงิน 3,380,000บาท และโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้นับแต่เวลาที่ทำละเมิดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
.
ส่วนคำขอที่ให้จำเลยลบล้างหรือถอนประวัติอาชญากรรม เห็นว่า ที่โจทก์ถูกดำเนินคดีใน ข้อหาวิ่งราวทรัพย์ ก็เนื่องจาก นางเพ็ญศิริ สำเภาทอง เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ ดำเนินคดีกับโจทก์ พนักงานสอบสวนจึงต้องดำเนินคดีกับโจทก์ไปตามอำนาจหน้าที่ ต่อมาพนักงาน สอบสวนและพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องโจทก์ การดำเนินคดีกับโจทก์จึงสิ้นสุดลง เมื่อมีการแจ้งคำสั่งที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องโจทก์ไปยังจำเลยแล้ว จำเลยโดยกองทะเบียนประวัติอาชญากรมีการดำเนินคัดแยกแผ่นลายพิมพ์นิ้วมือและเอกสารที่เกี่ยวข้องทุกประเภทแยกออกจากสารบบหรือฐานข้อมูลประวัติอาชญากรเพื่อจัดเก็บไว้ใช้ประโยชน์ในทางราชการแล้ว
.
โจทก์ไม่ใช่อาชญากรและไม่มีประวัติเป็นอาชญากร กรณีจึงไม่มีข้อมูลที่ระบุว่าโจทก์เป็นอาชญากร กรณีของโจทก์ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะลบล้างหรือทำลายประวัติอาชญากรที่โจทก์จะขอให้จำเลยลบล้างหรือถอนประวัติของโจทก์ได้
.
สำหรับลายพิมพ์นิ้วมือของโจทก์ ก็เป็นวิธี ปฏิบัติต่อผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเพื่อใช้เป็นข้อมูลซึ่งไม่ว่าผู้ใดถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดก็ จะต้องถูกจัดเก็บลายพิมพ์นิ้วมือทุกคน และแม้ว่าในที่สุดพนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องหรือถูกฟ้อง แต่ศาลพิพากษายกฟ้อง ก็จะไม่มีการลบข้อมูลเกี่ยวกับลายพิมพ์นิ้วมือ ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ของทาง ราชการ หาใช่เพื่อกลั่นแกล้งผู้ใด ดังนั้นปัจจุบันโจทก์ไม่มีประวัติอาชญากรแล้ว
.
พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 3,380,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 มกราคม 2552 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากนี้ให้ยก
.
สำหรับคดีทางอาญา เมื่อปี 2562 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้พิพากษายืน ลงโทษจำคุก ตำรวจปราจีนบุรีที่ซ้อมทรมานนายฤทธิรงค์ 1 ปี 4 เดือน แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว