ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กกล่าวถึงพายุไต้ฝุ่นโนรูว่าที่ล่าสุดสลายตัวแล้ว ว่า… “พายุหมุนเกิดในทะเล ตายในเทือกเขา”
.
นี่คือประโยคสั้นๆ แต่ผมคิดว่าอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยดีสุด “พายุโนรู” ที่รุนแรงตอนขึ้นฝั่ง อ่อนแรงลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ประเทศไทยไม่เดือดร้อนมากไปกว่านี้ แล้วโนรูตายที่ไหน ?
.
คำตอบคือพายุหมดแรงบน “อันนัม” เทือกเขาที่เป็นเสมือนเกราะคุ้มครองไทย
.
อันนัมไม่ได้อยู่ในเมืองไทยด้วยซ้ำ เทือกเขาอยู่ในเวียดนาม ในลาว และมีส่วนปลายอยู่ในเขมร แต่เทือกเขายาว 1,100 กิโลเมตร สูงถึง 2,800 เมตร คือปราการธรรมชาติที่ปกป้องประเทศไทยมาหลายครั้งครา
.
อันนัมทอดยาวขนานชายฝั่งเวียดนาม แบ่งเขตชายฝั่งออกจากลุ่มน้ำแม่โขงที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน
.
ทุกครั้งที่มีไต้ฝุ่นหรือพายุใหญ่เข้ามาทางเวียดนาม อันนัมหยุดแรงลมไว้ ทำให้พายุที่เกรี้ยวกราดลดความแรงลมเหลือเพียงดีเปรสชั่น
.
แม้ฝนจะตกอยู่ แต่แรงลมเบาลงมาก ความชื้นในอากาศส่วนหนึ่งถูกกักเก็บไว้
.
อันนัมยังเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าดิบชื้นเรื่อยจนถึงป่าดิบเขาที่สำคัญในอินโดจีน
.
ยังเป็นถิ่นที่อยู่ของ “เสาลา” แอนทีโลปหายากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก พบเฉพาะแถวอันนัมตอนเหนือ ในลาวและเวียดนาม
.
อันนัมยังป้อนน้ำให้ลำโขง ทำให้ผู้คนในลาวและเขมรมีความสุข และนั่นคือเรื่องที่อยากเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟัง ถึงปราการแห่งอินโดจีน
.
เทือกเขาที่มีความหมายมากมายต่อไทย และจะยิ่งทวีความสำคัญ เมื่อโลกร้อนขึ้น เมื่อสภาพอากาศสุดขั้วแรงขึ้น
.
อันนัมยังคงตั้งตระหง่าน และคนไทยโชคดีเหลือเกินที่เราตั้งถิ่นฐานอยู่เบื้องหลังอันนัม