เกาหลีใต้ปั่นป่วน สืบเนื่องจากโศกนาฏกรรมเบียดกันตายในวัน “ฮัลโลวีน” ประชาชนหลายหมื่นคนถือเทียนขาวและป้ายข้อความสีดำ ทั่วกรุงโซลไว้ทุกข์แก่เหยื่อคนหนุ่มสาวที่เสียชีวิต ตำหนิรัฐบาล บางส่วนถึงขั้นเรียกร้องให้ลาออก รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
.
เมื่อค่ำวานนี้ (เสาร์ 5 พ.ย.) ท่ามกลางความโกรธเคืองของประชาชนยังคงมีมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อโศกนาฏกรรมครั้งเลวร้ายที่สุดในเกาหลีใต้ในรอบเกือบ 1 ทศวรรษ ณ ย่านอิแทวอน กรุงโซล เมืองหลวงของประเทศ ผู้คนหลายพันคนไหลบ่าสู่ท้องถนนเพื่อจุดเทียนไว้อาลัย และประท้วงต่อต้านรัฐบาล
.
โดยเหตุการณ์นักเที่ยวเบียดเสียดยัดเยียดจนขาดอากาศหายใจเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม เข่นฆ่าชีวิตผู้คนไป 156 ราย ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว และบาดเจ็บอีก 196 ราย ระหว่างปาร์ตีฉลองวันฮาโลวีนในย่านท่องราตรีอิแทวอน
.
หนึ่งสัปดาห์ผ่านไป เจ้าหน้าที่ได้เปิดการสืบสวน บุกจู่โจมตรวจค้นที่ทำการเทศบาล สถานีตำรวจท้องถิ่น และสถานีดับเพลิง ผู้บัญชาการตำรวจกล่าวขอโทษ เช่นเดียวกับประธานาธิบดียุน ซอกยอล ซึ่งประกาศปรับปรุงมาตรการควบคุมฝูงชนในอนาคต
.
อย่างไรก็ตาม นั่นไม่เพียงพอต่อเสียงเรียกร้องความยุติธรรมของประชาชน ผู้คนจำนวนมากรู้สึกอดสูเป็นอย่างยิ่งที่พวกเจ้าหน้าที่ล้มเหลวในการปกป้องคนหนุ่มสาว ย้อนแย้งกับที่คนหนุ่มสาวสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติ ในนั้นรวมถึงเค-ป็อป ที่ขับเคลื่อนภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีนานาชาติ
.
ในวันเสาร์ (5 พ.ย.) พวกนักเคลื่อนไหวและกลุ่มการเมืองต่างๆ ออกมาระบายความโกธเคือง ด้วยการชุมนุมจุดเทียนอย่างน้อย 7 จุดทั่วกรุงโซล โดยเวทีชุมนุมใหญ่ที่สุดมี แคนเดิลไลท์ แอคชัน พันธมิตรกลุ่มหัวก้าวหน้า เป็นแกนนำ ซึ่งพันธมิตรกลุ่มนี้จัดการประท้วงทางการเมืองเป็นประจำ ต่อต้านรัฐบาลของยูน ตั้งแต่ก่อนเกิดโศกนาฏกรรมอิแทวอนแล้ว
.
ทางกลุ่มจัดชุมนุมใกล้ศาลากลางเมือง ซึ่งพบเห็นถนนหลักสายหนึ่งถูกปิดการจราจร 2 เลน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประท้วงหลายหมื่นคน จำนวนมากชูป้ายข้อความสีดำระบุว่า “การลาออก คือการแสดงความเสียใจ” ส่งสารถึงประธานาธิบดี
.
“แม้ชัดเจนว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบ แต่ดูเหมือนพวกเขากำลังมองหาพวกผู้กระทำผิดจากองค์กรที่ไม่มีความเกี่ยวข้องด้วย เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะรัฐบาลไม่ได้ทำหน้าที่ในบทบาทพื้นฐานที่สุดของพวกเขา” แกนนำคนหนึ่งกล่าวบนเวที”
.
“ออกไป รัฐบาลของยุน ซอกยอล ออกไป รัฐบาลของยุน ซอกยอล” ฝูงชนตะโกน พร้อมกับถือเทียนและป้ายข้อความ หลังจากก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน ในย่านอิแทวอน มีผู้ประท้วงราวๆ 200 คนจากกลุ่มการเมืองเยาวชนต่างๆ รวมตัวกันบริเวณใกล้จุดเกิดโศกนาฏกรรม
.
กลุ่มผู้ประท้วงในชุดดำและสวมหน้ากาก ถือป้ายข้อความระบุว่า “ตอน 18.34 น. ประเทศไม่ได้อยู่ตรงนี้ (เพื่อเหยื่อ)” อ้างถึงเวลาที่พลเมืองดีต่อโทรศัพท์ไปยังสายด่วนฉุกเฉินของตำรวจสายแรก นานหลายชั่วโมงก่อนเกิดการเบียดเสียดกันขาดอากาศหายใจเสียชีวิต ซึ่งรวมทั้งหมดในคืนนั้น มีพลเมืองดีต่อสายโทรศัพท์ไปยังสายด่วนทั้งสิ้น 11 สาย
.
ในจุดสุดท้ายของการเดินขบวน บริเวณอนุสรณ์สงครามแห่งหนึ่ง พวกนักเคลื่อนไหวได้กล่าวปราศรัย “สังคมนี้ไม่ปกติ ไม่ปลอดภัย รัฐบาลไม่ทำตามหน้าที่ความรับผิดชอบ พวกเขาผลักความรับผิดชอบเข้าหาคนหนุ่มสาว อะไรที่เราเรียนรู้จากเหตุการณ์เซวอลบ้าง?” แกนนำรายหนึ่งกล่าว อ้างถึงโศกนาฏกรรมเรือเฟอร์รีอัปปางในปี 2014 ซึ่งคร่าชีวิตมากกว่า 300 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนชั้นมัธยม