พระราชวังบักกิ้งแฮมงานงอกครั้งใหญ่ หลังปฏิเสธเรื่อง “การเหยียดผิว” ที่ “ดัชเชสเมแกน” ใช้เป็นอาวุธโจมตีราชวงศ์มาตลอด ล่าสุดถูกย้ำโดย “คนสนิทของควีน” ที่ก่อเหตุเหยียดผิวซีอีโอรายหนึ่ง และมันกลายเป็นไวรัลแบบ “เข้าทาง” ของเจ้าชายผู้ทิ้งแผ่นดินและประชาชน อย่าง “เจ้าชายแฮรี่” เป็นอย่างมาก
.
ท่ามกลางความอึมครึมระหว่าง “เจ้าพี่-เจ้าน้อง” คือเจ้าฟ้าชายวิลเลียมแห่งเวลส์ ที่กำลังเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ และเจ้าชายแฮรี่ที่ “ลาออกจากราชวงศ์” หลังเสกสมรสกับ “ดัชเชสเมแกน” พระชายา และยังเดินหน้าโจมตีราชวงศ์ผ่านสื่อต่างๆ ที่ถูกจ้าง และล่าสุดได้มีการปล่อยทีเซอร์เรื่องราวของเจ้าชายแฮรี่และเมแกนในวันที่เจ้าฟ้าชายวิลเลียมเสด็จทรงงานในสหรัฐฯ ด้านสิ่งแวดล้อมพอดี เรียกว่า “เปิดหน้าชก” คงจะได้ โดยอาวุธหนักและอาวุธหลักที่เมแกนใช้โจมตีพระราชวังบักกิ้งแฮมคือ พระโอรสในเจ้าชายแฮรี่และเมแกน “อาร์ชี่” ถูกเหยียดผิว และวังก็ได้ปฏิเสธมาตลอด แต่ล่าสุด บักกิ้งแฮมต้องรับบทหนักมาก และกลายเป็นไวรัลทั้งโลก เมื่อ “เลดี้คนสนิท” ที่เป็นเพื่อนสนิทที่สุดของควีนเอลิซาเบธที่2 – แม่ทูนหัวของเจ้าชายวิลเลียม ก่อเหตุเหยียดผิวอย่างรุนแรง และเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นกับซีอีโอรายหนึ่ง ที่ทวิตฟ้องโลก และมันกลายเป็นไวรัลเรียบร้อย
.

สื่อใหญ่แอลบีซีของอังกฤษ รายงานว่าแขกรับเชิญในกิจกรรมการพัฒนาสังคมของพระราชวังบัคกิงแฮม ซึ่งมีสมเด็จพระราชินีคามิลลาทรงเป็นเจ้าภาพ ได้เชิญแขกจำนวนมาก หนึ่งในนั้น คือ ซีอีโอ เอนโกซี ฟูลานี แห่งองค์กรซิสตาห์ สเปซ แห่งเขตแฮกนีย์ในลอนดอนตะวันออก เป็นนักเคลื่อนไหวซึ่งทำงานช่วยเหลือสนับสนุนสตรีและเด็กเชื้อสายแอฟริกันและแคริเบียนที่ถูกทำร้ายทางเพศและถูกรังแกจากคนในครอบครัว ได้ตกเป็นเหยื่อการเหยียดผิว โดยได้เขียนบ่นไว้บนทวิตเตอร์ว่าเธอถูก เลดี้ซูซาน ฮัสซี (แม่ทูนหัวของเจ้าชายวิลเลียม) เลดี้นางสนองพระโอษฐ์ในควีนเอลิซาเบธที่2 และเป็นพระสหายที่สนิทที่สุด คิดว่าเธอไม่ใช่คนอังกฤษและตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับต้นสายเชื้อชาติของเธอ ซึ่งเป็นวาจาที่เธอรู้สึก “เป็นการดูหมิ่น” อันสืบเนื่องจากที่เธอมีผิวกายสีดำ
.
เธอเขียนเล่ารายละเอียดของการปะทะคารมไว้บนทวิตเตอร์ว่า เลดี้นางหนึ่ง ที่เธอขอเรียกชื่อว่า “เลดี้ เอสเอช” (Lady SH – สื่อหลายค่าย เช่น แอลบีซี และรอยเตอร์ รายงานว่าเป็น Lady Susan Hussey) ซึ่งอยู่ในคณะเจ้าหน้าที่ของสำนักพระราชวัง เดินเข้ามา ปัดผมของเธอเพื่ออ่านป้ายชื่อ แล้วกดดันเธอด้วยคำถามที่พรั่งพรูบาดความรู้สึก ดังนี้
.
“ราวสิบนาทีที่ดิฉันไปถึงห้องจัดงาน เจ้าหน้าที่สตรีคนหนึ่งของสำนักพระราชวังตรงเข้ามา ขยับผมของดิฉันเพื่อจะดูป้ายชื่อ ดิฉันบอกว่าดิฉันมาจากองค์กรการกุศลชื่อ ซิสตาห์ สเปซ หลังจากนั้น สตรีท่านนั้นถามว่า
.
“คุณมาจากไหน”
.
“เรามีสำนักงานในเขตแฮกนีย์ค่ะ”
.
“ไม่ใช่ คุณมาจากส่วนไหนของแอฟริกา” คุณเอ็มโกซีเขียนว่าเจ้าหน้าที่สตรีถามเธออย่างนั้น
.
“ดิฉันไม่ทราบค่ะ พวกผู้ใหญ่ไม่ได้ทิ้งข้อมูลใดๆ ไว้เลยค่ะ”
.
“อื้ม.. คุณต้องรู้สิว่าคุณมาจากไหน ฉันเคยอยู่ในฝรั่งเศส คุณมาจากไหน”
.
“จากที่นี่ ในอังกฤษค่ะ”
.
“ไม่สิ แต่คุณมีสัญชาติอะไร”
.
“ดิฉันเกิดที่นี่ และเป็นคนอังกฤษค่ะ”
.
“ไม่ใช่ จริงๆ แล้วคุณมาจากที่ไหน พวกคนของคุณมาจากที่ไหน”
.
“พวกคนของดิฉัน! เลดี้คะ นี่มันอะไรกันคะ”
.
“น่ะ ฉันเห็นละ ฉันต้องมีข้อท้าทายสักหน่อยจึงจะทำให้คุณยอมบอกว่าคุณมาจากไหน แล้วคุณมาถึงที่นี่ครั้งแรกเมื่อไรล่ะ”
.
“เลดี้คะ! ดิฉันเป็นประชาชนชาวอังกฤษ คุณพ่อคุณแม่ของดิฉันมาถึงที่นี่ในทศวรรษที่ 50 ตอนนั้น…”
.
“โอ… ฉันคิดแล้วเราต้องมาถึงจุดนี้ในท้ายที่สุด คุณเป็นแคริบเบียนน่ะเอง!”
.
“ไม่ใช่ค่ะเลดี้ ดิฉันสืบเชื้อสายจากแอฟริกันค่ะ มีบรรพบุรุษในแคริบเบียน และก็เป็นคนสัญชาติอังกฤษค่ะ”
.
เอนโกซี ฟูลานี เล่าต่อเนื่องมาว่าเธอรู้สึก “ตกใจ” กับคำพูดต่างๆ ที่ออกมาจากเลดี้เอสเอช ซึ่งมีสตรีสองท่านที่ยืนใกล้ๆ ได้ยินด้วย
.
“เราอึ้งและเงียบไปครู่หนึ่งค่ะ” ซีอีโอขององค์การซิสตาห์ เขียนเล่าบนทวิตเตอร์อย่างนั้น และเล่าต่อมาว่าเธอยืนอยู่ริมห้อง ยิ้ม และยอมสนทนาต่ออีกนิดหน่อย จนกระทั่งได้จังหวะก็เดินผละมา แอลบีซีรายงานทั้งหมดนี้จากข้อมูลบนทวิตเตอร์ของคุณเอนโกซี
.
“ดิฉันคิดว่าควรจะต้องเล่าว่ามีความเจ็บปวดเกิดขึ้นในใจ และการที่ได้รับเชิญเข้าร่วมงาน แล้วต้องถูกดูหมิ่น มันสร้างความเสียหายต่อความรู้สึกมากค่ะ” ซีอีโอแห่งซิสตาห์ สเปซ บ่นไว้บนทวิตเตอร์
.
“ต้องกัดฟันอดทนทีเดียวนะคะที่ต้องอยู่ในสถานที่ซึ่งเราถูกล่วงละเมิด เรื่องเมื่อวานนี้ทำให้รู้สึกตระหนักถึงความจริงที่แย่มากๆ ซึ่งดิฉันยังพยายามพิจารณาอยู่”
.
แน่นอนว่าเรื่องใหญ่ขนาดนี้ ‘บัคกิงแฮม’ รีบสอบสวนและแถลงขออภัยในวันเดียวกัน พร้อมแจ้งว่าเจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้ลาออกแล้ว
.
ทวิตแห่งความเจ็บปวดดวงใจของสตรีอังกฤษผิวดำถูกแชร์ว่อนไปทั่วกลายเป็นไวรัลอย่างรวดเร็ว ซึ่งด้านพระราชวังบัคกิงแฮมก็รีบดำเนินการอย่างฉับไว ทั้งการตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบด้านและการออกคำแถลงซึ่งแสดงความรับผิดชอบขั้นสุด ดังนี้
.
“เราถือว่าเหตุการณ์นี้ร้ายแรงอย่างยิ่ง และได้ตรวจสอบเพื่อทราบรายละเอียดทั้งหมดโดยทันที ในการนี้ เราพบว่าคำกล่าวเหล่านี้เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และน่าเสียใจอย่างที่สุด เราได้ติดต่อไปยังคุณเอนโกซี ฟูลานีเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว และได้เชิญเธอมาหารือในทุกอย่างที่เธอได้ประสบหากเธอปรารถนาจะกล่าวถึง และในเวลาเดียวกัน บุคคลที่เกี่ยวข้องรายนี้อยากจะกล่าวขออภัยอย่างจริงใจสำหรับความเสียใจที่เกิดขึ้น และบุคคลรายดังกล่าวได้ก้าวออกจากบทบาทหน้าที่อันทรงเกียรติของเธอแล้ว โดยมีผลบังคับทันที สมาชิกทั้งหมดในสำนักพระราชวังได้รับการกำชับถึงนโยบายแห่งการเปิดกว้างแก่ความหลากหลายและความทั่วถึง ซึ่งสมาชิกทุกคนจะต้องส่งเสริมเรื่องเหล่านี้ตลอดเวลา” รอยเตอร์นำเนื้อหาจากคำแถลงมารายงานอย่างละเอียด
.
ด้านเจ้าชายวิลเลียม ปรินซ์แห่งเวลส์ ซึ่งขณะนี้มีพระราชกิจด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ในสหรัฐอเมริกา ทรงได้รับคำถามจากสื่อมวลชนถึงเรื่องอื้อฉาวของคุณแม่ทูนหัวของพระองค์ และทรงประทานคำตอบที่กระจ่างชัดผ่านทางโฆษกส่วนพระองค์ อันเป็นคำตอบที่ไม่บ่ายเบี่ยงหรือปกปิดการกระทำของคุณแม่ทูนหัว โดยรอยเตอร์รายงานดังนี้
.
พระองค์บอกว่าทรงเสียพระทัยเมื่อได้ทราบถึงเหตุการณ์ที่แขกรับเชิญต้องประสบในพระราชวังบัคกิงแฮม พร้อมนี้โฆษกส่วนพระองค์กล่าวด้วยว่า “ผมไม่ได้อยู่ที่นั่น แต่สามารถบอกได้ว่าการเหยียดเชื้อชาติไม่ได้การยอมรับจากสังคมของพวกเรา ถ้อยคำที่ถูกกล่าวออกมาเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และเป็นการถูกต้องแล้วที่บุคคลรายนั้นต้องพ้นออกไปโดยมีผลทันที”
.
เลดี้ฮัสซีเป็นนางสนองพระโอษฐ์รุ่นเก่า และเป็นพระสหายคนสนิทของควีนเอลิซาเบธที่ 2 เป็นนางสนองพระโอษฐ์ผู้โด่งดังอย่างยิ่งในสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยเป็นหนึ่งในกลุ่มวงในที่ควีนทรงไว้วางพระทัยมากที่สุด ดังเห็นได้ว่า ในพระราชพิธีพระศพของเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชสวามีของควีนเอลิซาเบธ ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2021 ควีนทรงเสด็จแต่เพียงลำพัง ด้วยรถยนต์พระที่นั่งไปยังสถานที่จัดพระราชพิธี คือ โบสถ์เซนต์จอร์จ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ของพระราชวังวินด์เซอร์ โดยมีเลดี้ฮัสซีเพียงคนเดียวที่ได้ตามเสด็จไปด้วย
.
เมื่อควีนเอลิซาเบธทรงสวรรคต เลดี้ฮัสซีได้รับพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ให้ปฏิบัติหน้าที่อันทรงเกียรติต่อไป แต่ปรับเปลี่ยนตำแหน่งเสียใหม่ คือ เลดี้แห่งสำนักพระราชวัง อนึ่ง ตำแหน่งนางสนองพระโอษฐ์เป็นภารกิจแห่งความจงรักภักดี ซึ่งไม่มีเงินเดือนหรือค่าตอบแทนใดๆ