ผู้ว่าฯ ปราจีนบุรี แถลงยืนยันแท่งเหล็กบรรจุ “ซีเซียม-137” ถูกหลอมในโรงงานพื้นที่กบินทร์บุรี ถลุงเป็นฝุ่นแดง พบฝุ่นแดงปนเปื้อนซีเซียม 24 ตัน ประมาณ 24 กระสอบ โดยมี 1 ถุง ถูกนำไปถมที่ดินหลังโรงหลอม เชื่อไม่ได้หล่นหาย แต่ถูกคนในขโมย โรงงานยันหลอม-ถลุงระบบปิด เพจ “สรยุทธ” ฟาดหน้าแหก ฝุ่นแดงในถุงถูกเก็บไว้ในโรงเรือนโล่ง แค่มีหลังคาและผนัง 3 ด้าน ผู้เชี่ยวชาญระบุจัดเป็น “หายนะ”
.
วันนี้ (20 มี.ค.2566) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแถลงความคืบหน้ากรณีพบวัตถุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” ที่หายไปโรงไฟฟ้าในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี โดยพบอยู่ที่โรงงานหลอมโลหะแห่งหนึ่งใน อ.กบินทร์บุรี โดยนายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ระบุว่าเมื่อวานนี้ (19 มี.ค.2566) ช่วงเช้า ตรวจพบสารซีเซียมในกระเป๋าบิ๊กแบ็กขนาดใหญ่ โรงงานในเขต อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี จากการตรวจสอบพบว่า กระเป๋าบิ๊กแบ็กเป็นส่วนที่เหลือจากการผลิตเหล็ก เทเข้าไปในเตาหลอม ความร้อน 1,200 องศาฯ เมื่อผลิตจะมี “ฝุ่นละอองแดง” อยู่ภายใน “ระบบปิด” เมื่อเป็นฝุ่นออกมาจะมีฟิลเตอร์ด้านบนกันไว้ และติดอยู่บริเวณนั้น เมื่อเย็นแล้วจะตกเป็นผลึกเล็ก ๆ โดยถูกเก็บไว้ที่นี่ เมื่อยืนยันชัดเจนแล้ว จึงปิดพื้นที่ทันทีและให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบบริเวณรอบข้าง บริเวณแนวกระเป๋าบิ๊กแบ็ก พบว่าขึ้น แต่เมื่อออกมา 10 กว่าเมตร ไม่พบค่าของสาร ได้มีการสั่งการให้พนักงานในโรงงาน 70 กว่าคน จึงได้ให้พนักงานหยุดงานไปก่อน และให้เจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ แพทย์ พยาบาล เช็กประวัติและดูอาการ และตรวจเลือดพนักงานโรงงาน
.
นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวว่า โรงงานหลอมโลหะหรือหล่อเหล็ก มีการใช้อุณหภูมิถึง 1,000 องศาเซลเซียล เพื่อให้เหล็กหลอมละลายเป็นของเหลว และทำเป็นระบบปิดทั้งหมด ฉะนั้นสารซีเซียม เมื่อเจออุณหภูมิเพียง 600 องศาเซลเซียส จึงระเหยไปกับเขม่า เมื่อเหล็กหลอมถูกรีดออกมาเป็นแท่งเป็นเส้นแล้ว จึงไม่พบในเนื้อเหล็กที่รีดออกมา แต่ในเตายังมีฝุ่นแดงจากการหลอมเหล็ก และเชื่อว่าซีเซียมหายออกมาจากบริษัท “โดยมนุษย์” ไม่ใช่เกิดจากการหล่นหาย
.
ส่วนฝุ่นแดงปนเปื้อนซีเซียม 24 ตัน ประมาณ 24 กระสอบ โดยมี 1 ถุง ถูกนำไปถมที่ดินหลังโรงหลอม ก็ให้เจ้าหน้าที่ไปขุดดินทั้งหมดแล้วนำดินที่ป่นเปื้อนมาใส่กระสอบเช่นเดิมแล้ว และปิดล้อมที่ดินดังกล่าวไว้
.
นายกิตติ์กวิน อรามรุญ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี เปิดเผยว่า จากลงพื้นที่ตรวจสอบโดยใช้เครื่องมือในการตรวจสอบวัดแผ่รังสีบริเวณรอบๆ โรงงานดังกล่าวรัศมี 5 กิโลเมตร มีการเก็บตัวอย่างดิน น้ำ และอากาศ ไปตรวจสอบไม่พบการฟุ้งกระจาย หรือปนเปื้อนของสารซีเซียม 137 ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม ยืนยันว่า วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม 137 ในโรงงานดังกล่าวถูกควบคุมอยู่ในพื้นที่จำกัด และจากการตรวจพนักงานที่ทำงานในโรงงานไม่พบการปนเปื้อนของสารซีเซียม 137 เช่นกัน
.
อย่างไรก็ตาม แม้การแถลงทุกฝ่ายจะยืนยันว่าทุกกระบวนการเกิดขึ้นใน “ระบบปิด” ทว่าเพจของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้สื่อข่าวชื่อดัง ได้ลงภาพ “กระสอบ” ที่ถูกตั้งเรียงราย โดยระบุว่า ภายในกระสอบคือ “ฝุ่นแดงปนเปื้อนซีเซียม” ถูกวางเอาไว้ในโรงเรือนโล่ง มีแค่หลังคาและผนัง 3 ด้าน ไม่ใช่ห้องระบบปิดแต่อย่างใด พร้อมแคปชั่นว่า
.
เก็บไว้ใน ‘ระบบปิด’ แน่นะวิ …
.
ห้องเก็บ ‘ฝุ่นแดงปนเปื้อนซีเซียม-137’ ในโรงหลอมเหล็ก ที่ถูกเผยแพร่ระหว่างการแถลงข่าว
.
“พื้นที่ควบคุม โปรดระวังรังสี”
.
ทำให้ชาวเน็ตแห่แชร์และคอมเมนท์กระหน่ำมาก
.
ด้าน ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความระบุถึงความร้ายแรงของสถานการณ์ โดยเรียกว่า “หายนะ”
.
โพสต์ระบุว่า
.
“หายนะแท่งซีเซี่ยมถูกหลอมในโรงงานหลอมเหล็ก มีทั้งฝุ่นที่ปล่อยออกจากปล่องควัน ฝุ่นแดงในถุงกรองอากาศ ขี้เถ้าหนัก รวมทั้งฝุ่นในโรงงาน คืออนุภาคซีเซี่ยมที่ปล่อยรังสีแกมมาและเบต้าออกมา คือสารสารก่อมะเร็ง ในอากาศ ในพืช ผัก ผลไม้ แหล่งน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน รัศมีอย่างน้อย 5 กม.ระยะยาวอาจมีคนป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ”
.
โดยก่อนหน้านี้ ดร.สนธิ ได้โพสต์อธิบายกระบวนการและะผลกระทบ ระบุ ว่าถ้าแท่งโลหะที่บรรจุ ซีเซียม-137 (Cs137) ถูกหลอมรวมกับเศษเหล็กในโรงงานหลอมเหล็กแล้ว ผลกระทบที่ตามมาคือ
.
1.ฝุ่นขนาดเล็กของ Cs137 ที่ปล่อยออกมาจากปลายปล่อง จะกระจายสู่บรรยากาศและตกลงสู่แหล่งน้ำ ดินที่อยู่รอบๆโรงงานและเกิดการปนเปื้อนเข้าสู่วงจรอาหารได้แก่ ผัก ผลไม้ อา หารจากแหล่งน้ำใกล้เคียงและอาหารแปรรูปจากวัตถุดิบทางการเกษตร เป็นต้นรวมทั้งอาจมีบางส่วนที่ประชาชนหายใจเข้าไปด้วย…
.
สารนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายบางส่วนจะถูกขับออกจากร่างกายทางเหงื่อและปัสสาวะและบางส่วนจะตกค้างและสะสมในกล้ามเนื้อ,ตับ,ไขกระดูก หากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานานจะทำให้เกิดความผิดปกติในระดับโครโมโซมคือเป็นมะเร็งนั่นเอง
.
2.หากโรงงานหลอมเหล็กมีอุปกรณ์ควบคุมมล พิษทางอากาศ เช่น Baghouse Filter โดยจะทำการกรองฝุ่นเหล็กขนาดเล็กที่ปนเปื้อนสาร Cs137 หรือที่เรียกว่าฝุ่นแดงไว้ในถุงกรองในปริมาณมาก ซึ่งโรงงานหลอมเหล็กจะขายฝุ่นแดงดังกล่าวให้กับโรงงานประเภท106 นำไป Recycle เพื่อสกัดเอาธาตุสังกะสีไปใช้ ซึ่งจะทำให้สารCs137แพร่กระจายออกไปในวงกว้างมากขึ้น และเกิดอันตรายต่อประชาชนและระบบนิเวศ
.
3.เมื่อเข้าเตาหลอมแล้วส่วนหนึ่งจะกลายเป็นขี้เถ้าหนัก(Bottom ash)โดยจะมีอนุภาคของ สารCs137ปนเปื้อนในเถ้าหนักด้วย หากโรงงานนำไปฝังกลบใต้ดินก็อาจปนเปื้อนน้ำใต้ดินและน้ำผิวดิน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหารและน้ำต่อไป
.
4.เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องสวมอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัย(PPE)เพื่อป้องกันการได้รับรังสีและทำการตรวจการปนเปื้อนของสารCs137 ภายในโรงงานทุกบริเวณ เช่น เถ้าหนัก ฝุ่นแดง กองเหล็ก เตาหลอม ดินและแหล่งน้ำและฝุ่นละอองในโรงงาน เป็นต้น รวมทั้งต้องตรวจหารังสีปนเปื้อนที่ตัวพนักงานทุกคนด้วย”
.