ยิ่งรู้ยิ่งต้องอนุรักษ์ ดร.ธรณ์สุดปลื้ม หลังลุยงานมา 5 วัน ค้นพบปะการังใหม่ที่เกาะไหงกว่า 4000 ตารางเมตร ใช้โดรนถ่ายภาพแนวดิ่ง พบปะการังเป็นหย่อมขนาดใหญ่ มากกว่า 10 หย่อม แบ่งได้เป็น 3 โซน

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ผู้อุทิศชีวิตให้งานเพื่อท้องทะเลไทยและการอนุรักษ์ โพสต์เฟซบุคสุดดีใจ หลังลุยหา 5 วันเต็ม ในที่สุด ค้นพบปะการังใหม่ที่เกาะไหงกว่า 4000 ตารางเมตร โดยระบุว่า

ทำงานมา 5 วัน ถึงเวลารายงานความสำเร็จให้เพื่อนธรณ์ทราบ เรื่องแรกคือ #ค้นพบปะการังใหม่ที่เกาะไหงกว่า4000ตารางเมตร

การสำรวจหนนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์กับอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา

จุดเริ่มย้อนหลังไป 5 ปี ตั้งแต่เราเริ่มต้นใช้โดรนติดตามแนวปะการังที่เกาะยูง อุทยานพีพี

ครั้งนั้นคณะประมงร่วมกับกรมอุทยานฯ และสิงห์เอสเตท สำรวจติดตามแนวปะการังน้ำตื้นที่งอกใหม่ จนพบว่ามีพื้นที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

กรมอุทยานฯ ยังนำโดรนไปใช้ติดตามปะการังที่อ่าวมาหยา

ระหว่างนั้น ผมพัฒนาการสำรวจแนวปะการังแบบ 3 มิติ ดาวเทียม/โดรน/ภาคสนาม โดยได้รับการสนับสนุนจากปตท.สผ.

เมื่อมาสำรวจพื้นที่ทะเลตรัง ร่วมกับกรมอุทยานฯและกรมทรัพยากรทางทะเลฯ ผมลองนำวิธีที่พัฒนามาใช้

ข้อมูลดาวเทียมทำให้เรากำหนดพื้นที่สำรวจล่วงหน้า จากนั้นใช้โดรนบินสำรวจตามแนวที่วางไว้

เฉพาะแนวปะการังฝั่งตะวันออกของเกาะไหง อุทยานหมู่เกาะลันตา ความยาว 4 กม. จะให้คนไปดำน้ำสำรวจคงไม่มีทาง

ยังหมายถึงแนวปะการังน้ำตื้นที่อยู่ข้างใน ปรกติเราไม่ค่อยว่ายเข้าไปดู เราจะดูเฉพาะตามขอบนอก

แต่เมื่อใช้โดรน ผมพบว่าด้านตะวันออกเฉียงเหนือมีหย่อมปะการังลักษณะคล้ายเกาะยูง อยู่หลายแห่ง

เมื่อลองดูข้อมูลดาวเทียมปี 2557 เราไม่พบปะการังเหล่านี้ เป็นเพียงพื้นทรายโล่ง (ภาพในคอมเมนต์)

ผมจึงนำทีมไปสำรวจพื้นที่ดังกล่าว โดยมีหัวหน้าอุทยานเกาะลันตานำทีมเข้าร่วมสำรวจ

เราพบว่าพื้นที่เหล่านั้นเป็นปะการังจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นปะการังกิ่งสั้น ลักษณะคล้ายปะการังที่เกาะยูง

เราใช้โดรนถ่ายภาพแนวดิ่ง พบปะการังเป็นหย่อมขนาดใหญ่ มากกว่า 10 หย่อม แบ่งได้เป็น 3 โซน A/B/C (ดูภาพครับ)

ทีมสำรวจจึงวางจุดพิกัดและวัดขนาดพื้นที่ปะการัง เพื่อนำไปวิเคราะห์ว่า มีพื้นที่เท่าไหร่ โดยใช้ภาพโดรน (ภาพในเมนต์)

รวมทั้งสำรวจตอนน้ำขึ้น เพื่อเช็คดูสัตว์น้ำเข้ามาอาศัย เช่น ปลาหลายชนิด (กำลังดูอยู่ครับ แต่ไม่ต่ำกว่า 20+ ชนิด)

ข้อมูลที่วัดคร่าวๆ คือมีพื้นที่ปะการังมากกว่า 4,000 ตารางเมตร ซึ่งไม่พบเลยในปี 57

ข้อมูลนี้ยืนยันว่าแนวปะการังเกาะไหงกำลังฟื้นตัว และมีพื้นที่อาศัยสัตว์น้ำเพิ่มจำนวนมาก

เรากำหนดจุดติดตามเรียบร้อย และเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ ในเวลา 3-4 ปี หย่อมปะการังจะรวมกันเป็นผืนใหญ่ พื้นที่นับหมื่นตารางเมตร

อันเป็นลักษณะเดียวกับที่เราพบที่เกาะยูง รวมถึงในต่างประเทศที่ผมไปทำงาน เช่น มัลดีฟส์

นอกจากนี้ เรายังพบหย่อมปะการังคล้ายกันที่เกาะกระดาน อุทยานหาดเจ้าไหม แต่มีพื้นที่เล็กกว่า

จึงแจ้งข่าวมาให้เพื่อนธรณ์ดีใจ 😂

งานนี้ใช้เวลาหลายวัน เพราะเป็นพื้นที่เข้าถึงยาก และต้องทำงานอย่างระวังเพราะเป็นเขตน้ำตื้น

แต่เมื่อเสร็จแล้ว ตื่นเต้นมากครับ กำลังจะมีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นที่ทะเลตรัง/กระบี่

ยังดีใจมากที่เทคนิคสำรวจ 3 มิติที่ปลุกปล้ำมาตั้งแต่ต้น ก้าวหน้าจนพบความสำเร็จในที่สุด

เพราะถ้าเป็นการดำน้ำดูอย่างเดียวเหมือนเดิม คงไม่มีทางเจอ เนื่องจากอยู่ไกลจากย่านที่พักหรือคนอยู่ ไม่มีใครผ่านเข้ามาเจอ

ถือว่าคุ้มค่ามากที่ลงมาเอง และจะอยู่ต่อไปจนกว่างานจะเสร็จครับ

ขอบคุณ กรมอุทยานฯ กรมทรัพยากรทางทะเลฯ และสวทช. ที่ช่วยกันจนพบปะการังแห่งใหม่ 🙏🏼

ขอบคุณ สิงห์เอสเตทและปตท.สผ. ที่เชื่อใจสนับสนุนจนมีวันนี้ 🙏🏼

ผ่านไป 4 ปี สำเร็จจนได้ครับ

พื้นที่นี้ห่างไกล คงไม่มีใครเข้าไปง่ายๆ ไม่ต้องห่วงครับ อุทยานลันตาทราบแล้วและจะคอยดูแล

ฝากคนตรัง/คนกระบี่ ช่วยกันดูแลด้วยนะฮะ รับรองว่าอีกไม่นานปะการังโตพรึ่บ ธรรมชาติฟื้นตัวเร็วถ้าเราดูแลเธอครับ