พาไปทำความรู้จัก “ปลาค้อวังแดง” ปลาหายากพบได้เฉพาะถิ่นเดียวในอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงเท่านั้น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” เผยภาพให้ดูเป็นขวัญตา

เพจ “ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” เผยภาพ “ปลาค้อถ้ำพระวังแดง” ปลาไม่มีตาจัดเป็นปลาหายากชนิดหนึ่งของเมืองไทย โดยเพจดังกล่าวระบุว่า ปลาชนิดนี้เป็นปลาหายาก พบได้เฉพาะถิ่นเดียวในอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงเท่านั้น

“ปลาค้อถ้ำพระวังแดง” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Schistura spiesi อยู่ในวงศ์ปลาค้อ (Balitoridae) มีข้อมูลระบุว่าถูกค้นพบครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ. 2003 โดย “จอห์น สปีส์” (John Spies) นักมีนวิทยาชาวสิงคโปร์ ร่วมกับนักมีนวิทยาชาวไทย จึงตั้งชื่อปลาชนิดนี้ให้เป็นเกียรติแก่สำรวจถ้ำผู้ค้นพบปลาชนิดนี้

ปลาค้อถ้ำพระวังแดง เป็นปลาน้ำจืดหายาก พบเฉพาะในถ้ำพระวังแดง ในอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก โดยอยู่ลึกเข้าไปในถ้ำตั้งแต่ 100 เมตรขึ้นไป

สำหรับถ้ำพระวังแดง เป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ ที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก มีความยาวประมาณ 12.5 กิโลเมตร ซึ่งถือว่ายาวที่สุดในประเทศไทย

ภายในถ้ำมีห้องโถงขนาดใหญ่มีหินงอกหินย้อย ฝาผนังถ้ำมีลักษณะเป็นคราบน้ำไหลสีแดงสวยงามเหมือนงานประติมากรรม และหินบางส่วนกลายเป็นแท่นคล้ายบัลลังก์ และภายในถ้ำมีลำห้วยที่ค้นพบปลาค้อถ้ำพระวังแดงอยู่ด้านล่าง

การเข้าไปเที่ยวชมภายในถ้ำควรติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง (หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงที่ 5) เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายหรือพลัดหลง และในช่วงฤดูฝน ทางอุทยาน ฯ จะทำการปิดถ้ำไม่ให้เข้าชม เพราะอาจมีน้ำไหลบ่ารุนแรงสร้างอันตรายถึงแก่ชีวิตได้