เม็ดพลาสติกจำนวนมหาศาล ลอยขึ้นฝั่งศรีลังกา หลังจากเรือสินค้า X-Press Pearl ไฟไหม้อยู่นอกชายฝั่งโคลอมโบ ชาวประมงเดือดร้อน ชาวบ้านไม่กล้าบริโภคสัตว์น้ำ

เฟซบุคแฟนเพจ Thon Thamrongnawasawat ของ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม อาจารย์ประจำคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ โพสต์ภาพและข้อมูลชวนตระหนก อันเนื่องมาจากปัญหาขยะ “เม็ดพลาสติก” โดยระบุว่า

ภาพที่เพื่อนธรณ์เห็นคือเม็ดพลาสติกจำนวนมหาศาลที่ลอยมาขึ้นฝั่งศรีลังกา ภายหลังจากเรือสินค้า X-Press Pearl ไฟไหม้อยู่นอกชายฝั่งโคลอมโบ

ตอนนี้ควบคุมไฟได้แล้ว ลูกเรือ 25 คนปลอดภัย ยังไม่มีร่องรอยน้ำมันรั่ว

แต่ที่มาถึงฝั่งแล้วแน่นอนคือเม็ดพลาสติกที่เป็นส่วนหนึ่งของสินค้า 1,486 ตู้ที่บรรทุกบนเรือ และยังมีสารเคมีอีก 25 ตัน

รายงานข่าวบอกว่า บนเรือมีคอนเทนเนอร์ใส่เม็ดพลาสติก 28 ตู้ ตอนนี้อย่างน้อย 8 ตู้ตกลงทะเล

MEPA หน่วยงานดูแลมลพิษทางทะเลศรีลังกาบอกว่า นี่อาจเป็นหายนะทางทะเลครั้งใหญ่สุดของประเทศ

เรือไหม้ห่างจากฝั่ง 9 ไมล์ แต่บริเวณชายฝั่งทางเหนือเมืองโคลอมโบคือเขตพื้นที่ชุ่มน้ำ Negombo

บริเวณนี้มีหาดทรายยาวเหยียด เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีป่าชายเลน ยังเป็นที่อนุบาลสัตว์น้ำและทำประมง

เชื่อว่ามีชาวประมงกว่า 4,500 คนได้รับผลกระทบ และอาจเพิ่มขึ้นหากผู้คนกลัวไม่กล้ากินสัตว์น้ำจากบริเวณนี้

เม็ดพลาสติกจำนวนมหาศาลยังเป็นขยะทะเล และอาจส่งกระทบต่อไปอีก

ตอนนี้ยังไม่มีรายงานความเสียหาย แต่เชื่อว่าเมื่อประเมินแล้ว จะต้องมีการเรียกร้องกันตามมา

ตัวอย่างจากศรีลังกาเป็นเหตุการณ์ที่อาจเกิดกับประเทศไทยได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะเมื่อเราต้องการเป็นโลจิสติกส์ฮับ

เท่าที่มีประสบการณ์ ผมคิดว่าเราต้องดูกฎหมายทะเลให้ดี รวมถึงผลักดันให้เราสามารถฟ้องร้องเรือต่างชาติได้ง่ายขึ้น

เพราะในอดีตเรามีกรณีเรือต่างชาติชนปะการัง และสุดท้ายก็ต้องหาทางออกที่ต้องพูดคุยกันเยอะ

ยังรวมถึงการป้องกันระวังเรื่องความเสี่ยงจากอุบัติเหตุแบบนี้ที่ต้องทุ่มจริง

เพราะหากเกิดอะไรขึ้นมา มันแก้ไขฟื้นฟูไม่ได้ง่ายๆ หรือบางทีแทบไม่ได้เลยด้วยซ้ำ

ผมเคยไปศรีลังกา 3 รอบ ยังจำความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลรอบๆ ได้ดี

หวังว่าความเสียหายในทะเลศรีลังกาจะไม่มากไปกว่านี้

และยิ่งหวังว่าจะไม่เกิดอะไรแบบนี้ในทะเลไทยครับ

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ข่าวนี้จึงไม่ถูกรายงานและเผยแพร่มากนัก ทั้งที่ระบบนิเวศทางทะเลได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เจ้าหน้าที่นับพันคนยังคงเร่งทำความสะอาดชายหาด ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และแหล่งประมงปูม้าและกุ้งสำคัญ ชาวประมงพื้นบ้านและนักท่องเที่ยวถูกสั่งห้ามเข้ามาในพื้นที่ตลอดชายฝั่งระยะทาง 80 กิโลเมตร

“นี่น่าจะเป็นหายนะจากมลภาวะชายฝั่งครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของศรีลังกา” Dharshani Lahandapura หัวหน้าสำนัก MEPA กล่าว

นี่ยังไม่นับหายนะจากน้ำมันเตา 280 ตันและน้ำมันดีเซลอีก 50 ตันที่ยังอยู่ในตัวเรือซึ่งอาจหลุดรอดออกมาได้ทุกขณะหากเรือลำนี้แตกเป็นเสี่ยงๆ