11 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ Rapid Antigen Test จากกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

1. Rapid Antigen Test คือ ชุด Test Kit หรือ ทดสอบอย่างง่าย และรวดเร็ว เป็นชุดตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสเบื้องต้น ก่อนเข้ากระบวนการตรวจชนิดยืนยันผลจากห้องปฏิบัติการนอกจากนี้ ยังมีชุดตรวจแบบ Rapid Antibody Test หรือการตรวจภูมิคุ้มกัน ที่ใช้การเจาะเลือดตรวจ แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เอามาใช้ เพราะปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนจำนวนมาก ภูมิคุ้มกันอาจเกิดขึ้นจากการติดเชื้อหรือฉีดวัคซีนก็ได้ ซึ่งจะส่งผลให้ไม่สามารถแยกได้

2. Rapid Antigen Test ใช้งานง่าย ทราบผลภายใน 10 – 30 นาที

3. Rapid Antigen Test เหมาะสำหรับการประเมินความชุกและการติดเชื้อ

4. เมื่อใช้ชุดRapid Antigen Testแล้วผลมีค่าผลตรวจเป็นบวก ใช่ว่าจะแปลว่าป่วย และค่าผลตรวจเป็นลบไม่ได้แปลว่าไม่ติดเชื้อ แต่เชื้ออาจจะน้อยและตรวจไม่เจอ ดังนั้น หากผลเป็นลบยังต้องกลับไปกักตัว และรอติดตามมาตรวจภายหลัง ส่วนผลเป็นบวก เนื่องจากอาจเป็นผลบวกลวงก็ต้องมีการตรวจซ้ำด้วย RT-PCR และหากผลตรวจซ้ำเป็นลบ ก็ต้องกลับไปกักตัวเช่นกัน เพราะมีความเสี่ยงสูง แต่หากเป็นบวกถึงจะนำเข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป

5. การตรวจเชื้อไวรัส ด้วย Rapid Antigen Test มีข้อจำกัด หากเป็นผู้เพิ่งได้รับเชื้อจะตรวจไม่พบเชื้อ

6. หากตรวจ 3 – 5 วันหลังได้รับเชื้อ อาจเริ่มตรวจพบเชื้อหรือไม่พบในบางราย ต้องตรวจซ้ำ

7. ถ้าอยากได้ผลที่ชัดเจนควรตรวจหลังได้รับเชื้อมาแล้ว 5 – 14 วัน จะพบเชื้อ และอาจได้ผลตรวจที่แม่นยำ

8. การตรวจด้วย Rapid Antigen Test เมื่อตรวจแล้วผลเป็นลบไม่ได้แปลว่าไม่ติดเชื้อ

9. ชุดตรวจ Rapid Test COVID-19 ต้องผ่านการรับรองและขึ้นทะเบียนจาก อย. โดยให้ขายได้เฉพาะ

– สถานพยาบาลของรัฐ

– โรงพยาบาลทั่วไป

– โรงพยาบาลเฉพาะทางคลินิกเวชกรรม

– คลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรม

– คลินิกเทคนิคการแพทย์ หรือสหคลินิก

10. ปัจจุบันมีชุดตรวจโควิด-19 แบบ Rapid Antigen Test ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว 24 ยี่ห้อ ซึ่งการใช้จะเป็นการอนุญาตให้ใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น และดำเนินการโดยสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองในการตรวจวิธีมาตรฐาน RT-PCR ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 300 แห่ง เชื่อว่าจะเพียงพอในการดำเนินการเพื่อลดการรอคิวตรวจเชื้อโควิด-19 ได้ เพราะเป็นการลดการตรวจแบบ RT-PCR

11. การตรวจโควิด-19 แบบ Rapid Test จะทำให้มีคนเข้าตรวจเชื้อมากขึ้นและเร็วขึ้น อาจเจอคนมีผลตรวจเชื้อเป็นบวกมากขึ้น เมื่อเจอมากขึ้นในขณะที่ระบบบริการควรสงวนไว้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก อาจต้องดำเนินการควบคู่กับมาตรการ Home Isolation หรือ Community Isolation หรือการกักตัวและดูแลให้ยารักษาภายในบ้านเพื่อไม่ให้แพร่เชื้อ ซึ่งหากป่วยหนักจะมีการรับไปรักษาต่อที่โรงพยาบาล