แถลงความคืบหน้าวัคซีนจุฬาฯ โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ระบุ ChulaCov-19 ยับยั้งการข้ามสายพันธุ์ได้ดี ผลข้างเคียงเล็กน้อยถึงปานกลาง เทียบเท่าไฟเซอร์ ป้องกัน 4 สายพันธุ์ รวมเดลต้า

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยถึงความคืบหน้า ChulaCov-19 เบื้องต้นเป็นผลการทดลองที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทางการแพทย์ ระบุว่า การทดสอบในอาสาสมัครแบ่งออกเป็นอาสาสมัคร 36 ราย อายุ 18-55 ปี ส่วนอาสาสมัคร 36 ท่าน อายุ 56-75 ปี และ 150 ราย อายุ 18-75 ปี ซึ่งได้เริ่มฉีดในอาสาสมัครกลุ่มแรกไปเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2564

ผลเบื้องต้นเรื่องความปลอดภัย ใน 36 รายแรก ยังไม่พบผลข้างเคียงรุนแรงใดๆ ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นอยู่ในขั้นเล็กน้อยถึงปานกลาง และดีขึ้นภายในเฉลี่ยประมาณ 1-3 วัน ซึ่งผลข้างเคียงที่พบ คือ อ่อนเพลีย มีไข้ อาการหนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ ส่วนใหญ่จะเกิดมากขึ้นในเข็มที่ 2 โดยส่วนใหญ่อ่อนเพลียมี 56% มีไข้ 25%

โดยผลการทดลองสรุปได้ว่า สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดีได้สูงเทียบได้กับวัคซีนชนิด mRNA เช่น ไฟเซอร์ กระตุ้นแอนติบอดีที่ได้สูงมากในการยับยั้งเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิม โดยแอนติบอดีที่สูงนี้ สามารถยับยั้งเชื้อข้ามสายพันธุ์ได้ ทั้ง 4 สายพันธุ์ คือ อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิด ที-เซลล์ ซึ่งจะช่วยขจัดและควบคุมเชื้อที่อยู่ในเซลล์ของคนที่ติดเชื้อได้

ศ.นพ.เกียรติ ย้ำว่า การทดสอบนี้ยังจำนวนไม่มาก ซึ่งยังเป็นผลเบื้องต้น แต่สำหรับรุ่นหนึ่งของเราก็ถือว่า ข้ามสายพันธุ์ได้ดี แต่เราก็ทำคู่ขนานรุ่น 2 และ 3 รอไว้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ปลายเดือน ส.ค. นี้จะเริ่มฉีดวัคซีนในกลุ่มอาสาสมัคร 150 คน โดย 120 คน เป็นกลุ่ม ChulaCov-19 เลือกจากขนาดที่เหมาะสมจากระยะที่ 1 และอีก 30 คน จะฉีดวัคซีนไฟเซอร์และทำการเปรียบเทียบในเชิงวิชาการ

ส่วนการฉีดวัคซีน ChulaCov-19 จะเหมือนไฟเซอร์ ฉีดห่างกัน 3 สัปดาห์ สำหรับคนไม่เคยรับวัคซีนมาก่อน แต่เนื่องจากประเทศไทยกว่า ChulaCov-19 จะนำมาใช้ คาดว่าจะเป็นการฉีดวัคซีนเข็ม 3 หรือเข็มกระตุ้นซึ่งเตรียมศึกษาในเรื่องนี้เพราะในเดือนเม.ย. 2565 คนไทยน่าจะฉีดวัคซีนเข็ม 2 หมดแล้ว

ส่วนการฉีดในเด็กนั้นเมื่อปลอดภัยในผู้ใหญ่ เราจะมีผู้เชี่ยวชาญทางเด็กเตรียมโครงการศึกษา ไว้เช่นกัน