เภสัชฯจุฬา-ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกันพัฒนายาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์สำหรับเด็กตำรับแรกของไทย

นายบดินทร์ ติวสุวรรณ และนายวรสิทธิ์ วงศ์สุทธิเลิศ ภาควิชาอาหารและเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ผู้พัฒนายาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์สำหรับเด็ก เปิดเผยว่า ในช่วงที่โรคโควิด-19 มีการระบาดอย่างหนักคนไข้ผู้ใหญ่ที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ในปริมาณที่ใช้สำหรับ 5 วัน จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 4,000 – 5,000 บาทต่อคน ดังนั้น คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ จึงได้นำเสนอแนวคิดในการพัฒนาตำรับยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir)เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถเตรียมยาให้ผู้ป่วย ในขณะที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีตัวยาสำคัญของฟาวิพิราเวียร์อยู่แล้ว ทำให้สามารถดำเนินโครงการได้อย่างรวดเร็ว

“ในช่วงเวลานั้นประมาณการว่าผู้ป่วยเด็กที่จำเป็นจะต้องใช้ยาในการรักษาอาจจะมีจำนวนมากขึ้น ยาตำรับน้ำเชื่อมจะช่วยให้ผู้ป่วยเด็กสามารถได้รับยาในขนาดที่ถูกต้อง และสะดวกต่อการรับประทาน จึงเป็นที่มาของการเริ่มต้นพัฒนาตำรับยาฟาวิพิราเวียร์ในรูปแบบน้ำเชื่อมสำหรับการเตรียมยาภายในโรงพยาบาล (Hospital preparation) แม้ว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มเด็กจะลดลงบ้างแล้ว ก็ยังมีความจำเป็นอยู่มาก เนื่องจากยังไม่มียาฟาวิพิราเวียร์ในรูปแบบน้ำเชื่อมออกจำหน่ายในท้องตลาด การพัฒนาสูตรตำรับในสถานการณ์ฉุกเฉินจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาได้ง่ายและเร็วขึ้นด้วยต้นทุนที่ไม่แพง

ตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ ต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 สูตรโรงพยาบาลจุฬาภรณ์นี้ มีลักษณะเป็นยาน้ำเชื่อมสีส้มใสปราศจากน้ำตาล แต่งรสและกลิ่นราสเบอรี่ มี 2 ขนาด คือ ขนาด 800 มิลลิกรัมใน 60 มิลลิลิตร และขนาด 1,800 มิลลิกรัมใน 135 มิลลิลิตร รูปแบบของยาน้ำเชื่อมนี้จะช่วยให้เกิดความสะดวกสำหรับการให้ยาในเด็กหรือผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการกลืนยา โดยให้ผู้ป่วยรับประทานยาขณะท้องว่าง วันละ 2 ครั้ง ห่างกันทุก 12 ชั่วโมง ปัจจุบันมีการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในกลุ่มเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม ยาฟาวิพิราเวียร์ในรูปแบบน้ำเชื่อมนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะในผู้ป่วยเด็กเท่านั้น ยานี้ยังสามารถให้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยจะใช้ยาในปริมาณที่แตกต่างกัน ระยะเวลาที่ใช้อย่างน้อย 5 วัน ขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้รักษาด้วย ส่วนผลข้างเคียงของยาตำรับนี้จะเหมือนยาฟาวิพิราเวียร์ในรูปแบบเม็ด เช่น ต้องมีการปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่องในระดับปานกลางถึงรุนแรง เป็นต้น

“เรื่องการควบคุมคุณภาพเป็นสิ่งที่ทีมผู้วิจัยให้ความสำคัญอย่างมาก เรามีการกำหนดข้อกำหนดมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ยา (drugproduct specification) ของสูตรตำรับ เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ยาที่ได้มีปริมาณตัวยาสำคัญอยู่ในช่วงที่ต้องการ มีการควบคุมปริมาณสิ่งเจือปน(impurity)การควบคุมปริมาณสารกันเสีย(preservative)รวมถึงเรื่องคุณสมบัติทางกายภาพและเคมี(physical/chemical properties)นอกจากนี้มีการศึกษาความคงตัวของผลิตภัณฑ์ยา เพื่อให้มั่นใจว่ายามีความคงตัวตลอดอายุไขของยา” นายบดินทร์ กล่าว

สำหรับผู้ป่วยเด็กที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ นายบดินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการกระจายยาตำรับนี้ไปในหลายโรงพยาบาลทั่วประเทศเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาฟาวิพิราเวียร์รูปแบบน้ำเชื่อมได้ นอกจากนี้ยังสามารถลงทะเบียนรับยาผ่านทางเว็บไซต์ https://favipiravir.cra.ac.th โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ หรือติดต่อยังโรงพยาบาลจุฬาภรณ์โดยตรง ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้นเนื่องจากมีผลข้างเคียง