ชาวเน็ตจีนถล่มยับ ‘อีลอน มัสก์ ’พร้อมชวนกันบอยคอตต์ ‘เทสลา’ หลัง‘ดาวเทียมสตาร์ลิงก์’ ของเขาเกือบชน ‘สถานีอวกาศเทียนกง’
.
ชาวเน็ตจีนถล่ม อีลอน มัสก์ อื้ออึง หลังปักกิ่งร้องเรียนต่อยูเอ็นว่า สถานีอวกาศของตนต้องเปลี่ยนเส้นทางเพื่อหลีกเลี่ยงการชนกับดาวเทียมสตาร์ลิงก์ของสเปซเอ็กซ์ถึงสองครั้งสองคราในปีนี้
.
ตามเอกสารที่จีนส่งถึงสำนักงานกิจการอวกาศแห่งสหประชาชาติในเดือนนี้ ระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม และ 21 ตุลาคม ซึ่งเพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัย สถานีอวกาศเทียนกงของจีนต้องเปลี่ยนเส้นทางเพื่อหลีกเลี่ยงการชนกับดาวเทียมในโครงการสตาร์ลิงก์ อินเทอร์เน็ต เซอร์วิส ของบริษัทสเปซเอ็กซ์ของ มัสก์
.
โมดูลหลักของสถานีอวกาศ “เทียนกง” ของจีน เข้าสู่วงโคจรรอบโลกสำเร็จในช่วงก่อนหน้านี้ของปีนี้ และคาดหมายกันว่าสถานีอวกาศแห่งนี้จะสามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่ในปีหน้า
.
“เทียนกง” ถือเป็นความสำเร็จล่าสุดของจีนในความพยายามก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจในอวกาศ หลังจากก่อนหน้านี้ได้ส่งยานสำรวจดาวอังคารและส่งจรวดไปยังดวงจันทร์สำเร็จมาแล้ว
.
สำหรับสตาร์ลิงก์ เป็นแผนกงานหนึ่งของสเปซเอ็กซ์ มีหน้าที่ดำเนินงานกลุ่มดาวเทียมจำนวนหลายพันดวง ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะเสนอช่องทางเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสำหรับพื้นที่ส่วนใหญ่ทั่วโลก
.
สเปซเอ็กซ์นั้นเป็นบริษัทเอกชนอเมริกัน แต่จีนระบุในเอกสารส่งถึงหน่วยงานยูเอ็นว่า ชาติสมาชิกทั้งหลายของสนธิสัญญาว่าด้วยอวกาศ (Outer Space Treaty) ซึ่งถือเป็นรากฐานของกฎหมายอวกาศระหว่างประเทศ ย่อมมีความรับผิดชอบต่อการกระทำต่างๆ ของพวกหน่วยงานนอกภาครัฐบาลของประเทศพวกเขาด้วย
.
ทางด้าน เจ้า ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวสำทับถึงเรื่องนี้ระหว่างการแถลงข่าวตามปกติเมื่อวันอังคาร (28 ธ.ค) โดยตำหนิรัฐบาลสหรัฐฯว่า “… เพิกเฉยละเลยพันธกรณีของตนที่ต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อชีวิตและความปลอดภัยของบรรดานักบินอวกาศ”
.
สเปซเอ็กซ์ยังไม่ตอบข้อซักถามของสื่อในเรื่องนี้ แต่หลังจากข่าวการร้องเรียนของจีนนี้เผยแพร่ออกสู่สาธารณะ ทั้งมัสก์ซึ่งยังเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตรถไฟฟ้า “เทสลา” ด้วย, สตาร์ลิงก์, รวมทั้งอเมริกาด้วย ถูกวิจารณ์อย่างหนักบนแพลตฟอร์มสื่อสังคม “เว่ยปั๋ว” ของจีนเมื่อวันอังคาร (28 ธ.ค.)
.
ผู้ใช้คนหนึ่งโจมตีว่า เครือข่ายดาวเทียมของสตาร์ลิงก์เป็นแค่ “ขยะอวกาศ”
.
บางคนบอกว่า ดาวเทียมเหล่านั้นเป็นอาวุธในสงครามอวกาศของอเมริกา ส่วนมัสก์คือ “อาวุธ” ใหม่ที่รัฐบาลและกองทัพสหรัฐฯ สร้างขึ้น
.
ผู้ใช้อีกคนประชดว่า น่าขำที่คนจีนซื้อเทสลาซึ่งเท่ากับสนับสนุนเงินมากมายให้มัสก์ปล่อยดาวเทียมสตาร์ลิงก์ที่เกือบพุ่งชนสถานีอวกาศของจีน
.
“เตรียมตัวบอยคอตต์เทสลา” ผู้ใช้คนหนึ่งสะท้อนแนวทางร่วมในจีนต่อแบรนด์ต่างชาติที่ถูกมองว่า กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์แห่งชาติของจีน และบางคนบอกว่า ถ้าเหตุการณ์นี้กลับกันเป็นดาวเทียมของจีนที่อาจพุ่งชนสถานีอวกาศอเมริกา วอชิงตันคงลุกขึ้นมาแซงก์ชันปักกิ่งแน่นอน
.
“ทำไมเราไม่ทำแบบพวกเขาล่ะ” ผู้ใช้คนหนึ่งตั้งคำถาม
.
นอกจากนี้ยังมีโพสต์ที่โจมตีว่า ความเสี่ยงจากสตาร์ลิงก์ค่อยๆ เพิ่มขึ้น และมนุษยชาติทั้งหมดจะต้องจ่ายเพื่อกิจกรรมธุรกิจของโครงการนี้
.
มีนักวิทยาศาสตร์มากมายแสดงความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดการชนกันในอวกาศระหว่างวัตถุต่างๆ ซึ่งมนุษย์ส่งขึ้นไป และเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับดาวเทียมราว 3,000 ดวง และขยะอวกาศอื่นๆ ที่กำลังโคจรอยู่รอบโลก
.
โดยเฉพาะสเปซเอ็กซ์นั้น ปล่อยดาวเทียมในโครงการสตาร์ลิงก์ไปแล้วเกือบ 1,900 ดวง และมีแผนปล่อยเพิ่มอีกหลายพันดวง
.
เดือนที่แล้ว องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของอเมริกา (นาซา) ต้องเลื่อนกำหนดเวลาให้มนุษย์อวกาศจากสถานีอวกาศนานาชาติ ออกมาทำภารกิจเดินในอวกาศ เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับขยะอวกาศ
.
ทางด้านโจนาธาน แมคโดเวลล์ จากศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์ฮาร์วาร์ด-สมิธโซเนียน ระบุว่า เนื่องจากมีวัตถุจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ อยู่ในวงโคจรใกล้โลก ทำให้ต้องมีการเคลื่อนตัวเพื่อหลบหลีกกันบ่อยครั้งขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดการชนกันในอวกาศ รวมท้งบีบให้สถานีอวกาศต้องปรับเส้นทางเพื่อลดความเสี่ยงในการชน
.
เขายังบอกว่า นับจากสตาร์ลิงก์เริ่มปล่อยดาวเทียม ศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์ฯ สังเกตเห็นวัตถุในอวกาศโคจรเฉียดใกล้กันมากขึ้น และสำทับว่า การชนมีแนวโน้มทำให้สถานีอวกาศเสียหายจนหมดสิ้นและมนุษย์อวกาศทุกคนเสียชีวิต
.
อนึ่ง แม้มัสก์ยังเป็นที่ชื่นชอบอย่างมากในจีน แต่ชื่อเสียงของเทสลาที่ทำยอดขายเดือนละเป็นหมื่นคันในประเทศนี้ เริ่มสั่นคลอนหลังจากมีข่าวอื้อฉาว อุบัติเหตุรถเทสลาชน และข้อกังวลเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลออกมาหลายระลอกตลอดปีนี้