5 ผู้ต้องหา ยิงแล่เนื้อถลกหนังเสือโคร่ง ส่งหนังสือขอความเป็นธรรมถึง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หลัง อุทยานฯ เขาแหลม ประกาศ สั่งรื้อถอนบ้านพักให้พ้นเขตเขตอุทยานฯภายใน 30 วัน ทำพ่อแม่ญาติพี่น้องลูกเด็กเล็กแดงเดือดร้อน

นายกูกือ ยินดี นายศุภชัย เจริญทรัพย์ นายรัชชานนท์ เจริญทรัพย์นายจอแห่ง พนารักษ์ และนายโชเอ ไม่มีนามสกุล ซึ่งเป็น 5 ผู้ถูกดำเนินคดียิงเสือโคล่ง ในเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ได้มีหนังสือส่งถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรื่อง ขอความเป็นธรรมและความช่วยเหลือเร่งด่วน โดยหนังสือเขียนขึ้นที่หมู่บ้านปิล๊อกคี่ เลขที่ 55/พ หมู่ที่ 4 ตำบลปิล๊อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

เนื้อหาในหนังสือระบุว่า เนื่องด้วยข้าพเจ้า นายกูกือ ยินดี นายศุภชัย เจริญทรัพย์ นายรัชชานนท์ เจริญทรัพย์ นายจอแห่ง พนารักษ์ นายโชเอ ซึ่งเป็น 5 ผู้ถูกดำเนินคดีเสือโคล่ง ในเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นการยิงเสือโคร่ง การมีอาวุธครอบครอง เพื่อป้องกันฝูงวัว ควาย ที่เสือได้เข้ามากัดกิน เป็นอาหารเป็นจำนวนมากกว่า 30 ตัว และปัจจุบันก็ยังคงเกิดขึ้นเกือบทุกวัน

พวกผมเป็นแค่เด็กเลี้ยงวัว ควาย ไม่ใช่พรานใจโหด เรายิงเพื่อป้องกันวัว ควาย ทรัพย์สินที่เป็นรายได้หลักในการยังชีวิต และที่สำคัญพวกผมได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาอนุรักษ์พื้นป่าและ ต้นน้ำ จากเรื่องราวการฆ่าเสือ 2 ตัว ในป่าทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี หากสื่อมวลชนและสังคมจะให้ความเป็นธรรม มองในมุมกลับของชาวบ้านและพวกผมตาดำๆ ต้องเจอกับความไม่ยุติธรรม

ความเป็นอยู่ของชาวบ้านหมู่บ้านปิล๊อกคี่ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ประกอบด้วยประชากรประมาณจำนวน 2,638 คน 428 ครัวเรือน (ข้อมูล 2564) พี่น้องส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง มอญ และคนไทยพื้นราบ ที่ได้อพยพย้ายถิ่นฐานขึ้นมาที่สูง น้ำไม่ท่วมถึง เนื่องจากได้รับผลกระทบการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ หรือเขื่อนเขาแหลมที่เป็นชื่อเดิม ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร มีบ้างที่ลูกหลาน ออกไปทำงานในตัวเมืองใหญ่ ๆ ที่นี่จะเรียกว่าไกลปืนเที่ยง

แต่เพราะความห่างไกล และการเดินทางค่อนข้างลำบากทำให้ความเจริญยังเข้าถึงไม่มากพอ และนอกจากนี้ก็ได้ผลกระทบเรื่องการจัดการพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินเนื่องจากการกำหนดพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ การกำหนดสถานะบุคคลที่มีการสำรวจตกหล่นทำให้พี่น้องบางคนไม่ได้รับสัญชาติไทยจากช่วงเวลาที่ต้องสูญเสียสัตว์เลี้ยงมากกว่า 30 ตัว ซึ่งประเมินมูลค่านับล้านบาท ขณะที่พวกเขามีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยเพียงปีละไม่เกิน 50,000 บาท จะเข้าใจถึงหัวจิตหัวใจที่ทำให้พวกเขาซึ่งรักในวิถีธรรมชาติต้องระดมกำลังมาปกป้องชีวิตสัตว์เลี้ยงของพวกผม

วิถีตามปกติของชาวบ้านกะเหรี่ยงปิล๊อกคี่ ต.ปิล๊อก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เป็นชุมชนที่ต้องการความสงบ เป็นชุมชนต้นน้ำที่นำหลักกสิกรรมธรรมชาติมาพัฒนาคุณภาพชีวิต และเริ่มเห็นผลสำเร็จในการแก้ปัญหาใช้สารเคมี มีการทำฝ่ายชะลอน้ำ ฝายดักตะกอน สร้างป่าเปียกเป็นแนวกันไฟป่า มีการปลูกป่าเพิ่มเติมในพื้นที่ทำกิน ทำให้ช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา ชาวบ้านจำนวนมากสามารถฝ่าวิกฤต ด้วยการพึ่งพาตนเองและแบ่งบันได้ ลูกหลานคนรุ่นใหม่ก็พากันกลับมาพัฒนาแปลงเกษตรให้มีผลผลิตมากขึ้น

ชาวบ้านประมาณกว่า 50 ครอบครัว ทำการเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพหลัก โดยจะเลี้ยงวัวและควายในทุ่งหญ้าริมขอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนชิราลงกรณ แล้วพอหลังฤดูฝน น้ำในเขื่อนจะสูงท่วมพื้นที่ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ก็จะย้ายสัตว์ไปหากินในป่าบนภูเขาแทน จำนวนสัตว์เลี้ยงจากการสำรวจของปศุสัตว์อำเภอ มีควายมากกว่า 1,500 ตัว วัวมากกว่า 1,100 ตัว ส่วนอาชีพรองของชาวบ้านคือ ทำการเพาะปลูก ทำไร่มันสำปะหลัง สวนเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ปลูกผัก ข้าวไร่ และพืชผลการเกษตร และมีการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนาการทำกสิกรรม ช่วยแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยที่ทำกิน และมีการสร้างกระบวนการความเข้าใจระหว่างชาวบ้านและอุทยานแห่งชาติเขาแหลม ซึ่งก็เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นหลังมีปัญหามายาวนานเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน

จนกระทั่ง ประมาณเดือน ต.ค.64 ที่ผ่านมา ชาวบ้านพบว่า วัว ควาย ที่เลี้ยงไว้บน ภูเขา ได้ถูกเสือ กัด กิน และสูญหายไปหลายตัว ซึ่งจำนวนมากกว่า 30 ตัว เป็นปัญหาใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก และยิ่งดูเหมือนนับวัน เสือก็จะยิ่งรุกเข้ามาหากินใกล้หมู่บ้านมากขึ้นๆทุกที สร้างความหวาดผวาให้กับชาวบ้านลูกเด็กเล็กแดงเป็นอย่างมาก

ชาวบ้านส่วนหนึ่งให้ข้อมูลเสริมว่า “ปีไหนมันสำปะหลังราคาไม่ดี เม็ดมะม่วงหิมพานต์ราคาไม่ดี ก็มีวัวนี่แหละไว้ขาย เอาเงินจากการขายวัวขายควายนี้ไว้ใช้จ่ายในครัวเรือน ไว้ส่งลูกเรียน เพราะฉะนั้นเราจึงหวังผลจากการเลี้ยงวัวเลี้ยงควายนี่แหละ”

เมื่อมีเสือจำนวนมากกว่าปกติเข้ามากินสัตว์เลี้ยง ชาวบ้านจึงต้องสร้างเถียงนา หรือ กระต๊อบเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยในการเฝ้าระวังความปลอดภัยให้กับสัตว์เลี้ยงในหลายจุดในป่าบนเขา จึงนำมาถึงเหตุการณ์ที่จำเป็นต้องรักษาทรัพย์สินและชีวิตของพวกเขาเอง ความพยายามในการป้องปกทรัพย์สินอันมีค่าของพวกเขา กำลังถูกตีค่าจากสังคมและสื่อมวลชนว่าเป็นความโหดร้ายป่าเถื่อน หากเปิดใจ เห็นใจ จะเข้าใจ ถึงความเป็นจริงในมุมชีวิตของชาวบ้านอย่างแท้จริง

ในปัจจุบัน กรณีเสือกินวัวชาวบ้าน ชาวบ้านจึงยิงเสือเพื่อไม่ให้มากินวัว และเป็นอันตรายต่อชาวบ้านลูกเด็กเล็กแดง เมื่อยิงแล้วชาวบ้านนำเนื้อมาทำอาหารกิน เพื่อไม่ให้การตายของเสือนั้นต้องสูญเปล่าซึ่งชาวบ้านผู้กระทำผิดจำนวน 5 ราย ได้มอบตัวรับสารภาพ รอวันติดคุก แต่เรื่องกลับไม่จบที่ชาวบ้านผู้กระทำความผิดถูกดำเนินคดี

หากแต่ว่า วันที่ 18 ม.ค. เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ได้เอามติ ครม.30 มิ.ย. 2541 เป็นป้ายไวนิลขนาดใหญ่มาติดไว้ที่หมู่บ้าน บ้านพักอาศัย และออกหนังสือคำสั่งขับไล่ครอบครัวลูกเมียญาติพี่น้องของผู้กระทำความผิด 5 ราย ให้ย้ายบ้านเรือนออกไปจากเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม

ตามหลักกฎหมายพวกผมทั้ง 5 คน ที่กระทำความผิด รอคำพิพากษาของศาล ก็เป็นไปตามความผิดเฉพาะตัวที่เขากระทำความผิด คือความผิดยิงเสือ มีซากสัตว์ หากแต่ซึ่ง ลูกเมีย พ่อแม่ญาติพี่น้องของกระผม ไม่ได้กระทำความผิดด้วย แต่ต้องถูกเหมาเข่ง ยัดเหยียดให้รับผิดชอบความผิดร่วมด้วย โดยถูกสั่งให้รื้อบ้านย้ายออกจากที่ทำกินที่เขาอยู่อาศัยมาแต่เกิด ต้องออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อครอบครัวของพวกผม ที่มีทั้งพ่อ แม่ ญาติพี่น้อง ลูก หลานตัวเล็กตัวน้อย เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นการตีตราเลือกปฏิบัติ และด้วยเหตุนี้ มันคือโอกาสที่ทางเจ้าหน้าที่อุทยานใช้ช่วงจังหวะนี้เพื่อขับไล่ชาวบ้านให้ออกจากเขตอุทยานตามเจตนารมณ์ที่เขาตั้งใจไว้

เนื่องจากสถานการณ์การสู้รบในประเทศเมียนมา สถานการณ์สู้รบลุกลามบานปลาย ตลอดพื้นที่รอยต่อเขตผืนป่าแนวตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมา ตั้งแต่ชายแดนเขตพื้นที่ติดจังหวัดแม่ฮ่องสอน เลาะผ่านจังหวัดตากลงมาถึงชายแดนจังหวัดกาญจนบุรี จึงเป็นสาเหตุให้สัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติทะยินทะยี ประเทศเมียนมา ที่มีผืนป่าติดต่อกับเขตไทย ได้หนีเสียงปืนเสียงระเบิดที่ดังอยู่อย่างต่อเนื่อง

การสู้รบได้ไล่กวาดต้อนสัตว์ป่าจากเขตฝั่งเมียนมา ลงมาจากภาคเหนือถึงภาคตะวันตกและทะลักเข้าเขตป่าอุทยานฝั่งไทย ไม่ต่างอะไรกับชาวบ้านฝั่งเมียนมา ที่หนีตายข้ามมาหลบอยู่ฝั่งไทยเช่นเดียวกัน ขาดแคลนทั้งอาหารและที่อยู่อาศัย เมื่อสัตว์ป่าโดยเฉพาะเสือเมื่ออพยพมาอยู่หนาแน่นร่วมกับชาวบ้านในเขตป่าดั้งเดิม จึงเกิดความอันตรายความหวาดกลัวต่อชีวิตผู้คนชาวบ้านลูกเด็กเล็กแดงและสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน

หากเป็นกรณีช้างป่ามากินพืชไร่ของชาวบ้าน ชาวบ้านก็มีวิธีจัดการโดยใช้ประทัดจุดทำให้เสียงดังเพื่อขับไล่ได้บ้าง แต่ในกรณีที่เสือหิวอาหาร เวรกรรมจึงตกอยู่กับพวกผมตาดำๆที่ไม่สามารถจัดการอะไรได้เลย และยังต้องได้รับผลกระทบถูกดำเนินคดีติดคุกและไล่ที่อยู่อาศัยที่ทำกิน

ดังนั้นครอบครัวผมตลอดจนญาติพี่น้อง ชาวบ้านหมู่บ้านปิล๊อกคี่ หมู่ 4 ต.ปิล๊อก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ขอความเป็นธรรมและความช่วยเหลือในกรณีที่เกิดขึ้น กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อหาแนวทางออกในการดำเนินชีวิตของพวกผมและชาวบ้านต่อไป พวกผมขอขอบพระคุณท่านมา ณ โอกาสนี้ ขอแสดงความนับถือ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหนังสือขอความเป็นธรรมจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับดังกล่าวนั้น ลงนามโดย กูคือ ยินดี 1 ในผู้ถูกดำเนินคดี