สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โรงเรียนอัสสัมชัญ ลงนามร่วมมือกันในการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศ การพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมขนาดเล็ก ระบบติดตาม และสื่อสาร
.
เมื่อเร็วๆ นี้ ภราดา ดร.อาวุธ ศิลาเกษ ผู้อำนวยการโรงเรียนอัสสัมชัญ ร่วมกับ พลเอก ชูชาติ บัวขาว ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โรงเรียนอัสสัมชัญ โดยเป็นความร่วมมือกันในการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศ การพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมขนาดเล็ก ระบบติดตาม และสื่อสาร โดยมีแขกผู้มีเกียรติร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม ออดิทอเรียม (Auditorium) โรงเรียนอัสสัมชัญ เขตบางรัก กรุงเทพฯ


.
สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือ ระหว่างสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งเป็นความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศ การพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมขนาดเล็ก ระบบติดตาม และสื่อสาร ในระดับโรงเรียน เป็น “โรงเรียนแรกของประเทศไทย” โดยจะร่วมกันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับดาวเทียมขนาดเล็กทรงลูกบาศก์ (CubeSat) ที่สามารถสื่อสารและตรวจจับข้อมูลได้ และรองรับการปฏิบัติการภายใต้สภาวะเสมือนอยู่ในวงโคจรต่ำ ร่วมกันส่งดาวเทียมขนาดเล็กทรงลูกบาศก์ (CubeSat) ไปทดสอบที่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) และมุ่งเน้นจัดสร้างดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อสำรวจและศึกษาฝุ่นละอองขนาดเล็ก และการเคลื่อนที่ลมฟ้าอากาศ จากวงโคจรต่ำ
.
การพัฒนาสถานีภาคพื้นดินรับสัญญาณดาวเทียม ระบบสถานีและระบบติดตามวัตถุและดาวเทียมเคลื่อนที่วิถีแบบ Suborbital Flight (แบบไม่ถึงชั้นวงโคจรของโลก) ซึ่งมีความเร็วเชิงมุมต่ำ จนถึงความเร็วเชิงมุมสูง การพัฒนาระบบตรวจจับและติดตามดาวเทียมและวัตถุท้องฟ้า


.
การพัฒนาเทคโนโลยีจรวดหยั่งอวกาศ (Sounding Rocket) เชื้อเพลิงแข็ง ระยะการเคลี่อนในแนวดิ่งไม่เกิน 10 กิโลเมตร เชื้อเพลิงแข็ง ที่สามารถออกไปสู่ชั้น Mesosphere หรือ ชั้น Thermosphere เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการปล่อยวัตถุออกไปนอกอวกาศ
.
นอกจากนี้ ทั้ง 3 ภาคส่วน จะร่วมมือกันในการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับและยานยนต์ไร้คนขับ การพัฒนาบุคลากร และร่วมกัน พัฒนา เผยแพร่ และให้ความช่วยเหลือทางวิชาการด้านเทคโนโลยีการบินและอวกาศ แก่เยาวชนไทยผ่านศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีการบินและอวกาศ โรงเรียนอัสสัมชัญ และชมรมเทคโนโลยีการบินและอวกาศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การพัฒนาผลงานและเข้าร่วมการแข่งขัน การพัฒนาโครงการวิจัยและเผยแพร่ผลงานวิชาการ
.
บรรยากาศภายในงาน มีการนำเสนอผลงานของนักเรียนที่สนใจด้านเทคโนโลยีอวกาศและการบิน ผ่านการนำเสนอเรื่องราว “ชมรมสเปส เอซี (SPACE AC)” ในมุมมองนักเรียน โดย นายสุวิจักขณ์ ปิยะนพโรจน์ สมาชิกศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีการบินและอวกาศ โรงเรียนอัสสัมชัญ รวมถึงนิทรรศการผลงานของนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ ที่ได้รับรางวัลแชมป์โลก จากการแข่งขัน Annual CanSat Competition 2022 ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา


.
นอกจากนี้ ทางโรงเรียนอัสสัมชัญ ได้นำชมศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีการบินและอวกาศ โรงเรียนอัสสัมชัญ ณ ชั้น 6 อาคารอัสสัมชัญ 2003 โรงเรียนอัสสัมชัญ เขตบางรัก กรุงเทพฯ ซึ่งศูนย์การเรียนรู้ ใช้เป็นห้องปฏิบัติการของนักเรียนชมรมสเปส เอซี (SPACE AC)
ภราดา ดร.อาวุธ ศิลาเกษ ผู้อำนวยการโรงเรียนอัสสัมชัญ กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “โรงเรียนอัสสัมชัญ มีแนวทางในการพัฒนาองค์ความรู้จากความร่วมมือครั้งนี้ ไปต่อยอดจากชมรมของนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญที่ทำงานด้านเทคโนโลยีอวกาศ ไปสู่ศูนย์การเรียนรู้นวัตกรรม การบิน อวกาศ และเทคโนโลยีขั้นสูง จากความร่วมมือของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคต ด้านต่าง ๆ อาทิ เทคโนโลยีการบินและอวกาศ โรบอต (Robotic, AI) เมตาเวิร์ส(Metaverse), การสร้างงานและแบบงาน 3 มิติ (3D Printer) รวมถึงเผยแพร่ และให้ความช่วยเหลือทางวิชาการด้านเทคโนโลยีการบินและอวกาศ แก่เยาวชนไทยผ่านศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีการบินและอวกาศในอนาคตด้วย”
พลเอกชูชาติ บัวขาว ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กล่าวว่า “สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะส่งเสริมและสนับสนุนองค์ความรู้และบุคลากร ในการต่อยอดผลสำเร็จเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์และคุณค่าอันสูงสุด ต่อเยาวชนและประเทศชาติต่อไปในอนาคต เราจะร่วมสร้างอนาคตของประเทศไทย ด้วยการผลักดันให้เกิดคุณค่า ทางเศรษฐกิจและสังคมจาก Space Economy จึงจำเป็นต้องปฏิบัติงาน ในทิศทางเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อจะนำไปสู่ความร่วมมือพัฒนานโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนงาน ตลอดจนข้อบังคับทางกฏหมาย ด้านเทคโนโลยีการบินและอวกาศระดับชาติที่เป็นเอกภาพร่วมกันต่อไป”
.
ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจที่จะวิจัย สร้างบุคลากร และองค์ความรู้ รวมถึงนวัตกรรมด้านอวกาศ ดาวเทียมและอากาศยานมาอย่างยาวนาน ซึ่งบันทึกความร่วมมือนี้ ถือว่าเป็นจุดเริ่มของการดึงจุดแข็งของทั้งสามหน่วยงานระดับชาติมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เพื่อการพัฒนาบุคคลากรรุ่นใหม่ ๆ มาสร้างความเข้มแข็งของประเทศไทยต่อไป”