โรงเรียนรุ่นใหม่ ไม่น่าเบื่ออีกต่อไป หลังจากฮือฮาด้วยหลักสูตรใช้ตรีโกณมิติเพื่อการสอนนิติวิทยาศาสตร์ จำลองการกระเซ็นของเลือด จนเกิดเป็นกระแสบวกของชาวเน็ตแล้ว ล่าสุด “อัสสัมชัญ” โรงเรียนที่เป็นข่าวต่อเนื่องเรื่องการประกวดจรวดขนาดเล็ก ก็ได้ทดลองปล่อยบอลลูน ผูกติดดาวเทียมจำลองขึ้นขอบโลก เก็บข้อมูลชั้นบรรยากาศ-การเปลี่ยนแปลงยีสต์
.
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา นักเรียนจากสถาบันเทคโนโลยีการบินและอวกาศ โรงเรียนอัสสัมชัญ เดินทางขึ้นไปที่สถานีเรดาร์ฝนหลวง อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ทดลองปล่อยดาวเทียมจำลองที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง ภายใต้การดูแล ภราดาคฑาวุธ สิทธิโชคสกุล ผู้จัดการโรงเรียนอัสสัมชัญ และแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ คณาจารย์ และนักเรียนรุ่นพี่ โดยผูกดาวเทียมจำลอง ซึ่งภายในประกอบด้วยกล้องวิดีโอโทรศัพท์มือถือที่มีระบบ gps.sms. เพื่อจะบันทึกเป็นวิดีโอและภาพถ่าย ตรวจดูสภาพอากาศภูมิประเทศ ติดบอลลูนตรวจอากาศขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3.5 เมตร พร้อมกับกล่องเก็บบันทึกข้อมูล พร้อมทั้งยังร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยมหิดล นำยีสต์ขึ้นไปบนความสูงจากพื้นดินประมาณ 32 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นชั้นของบรรยากาศดูความเปลี่ยนแปลงการเจริญเติบโตของยีสต์


.
โดยภารกิจส่งเสริมการทดสอบด้าน Space Bio Technology ร่วมกับทาง Brian Computer Interface Lab: BCI ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการทดสอบอัตราการรอดชีวิตของยีสต์และวิเคราะห์ด้วย Survivor Assay ในชั้นบรรยากาศ Startosphere
.
การลอยอยู่ของบอลลูน ตามสภาพอากาศปกติอยู่ประมาณ 5-6 ชั่วโมง ก็จะตกลงบนพื้นดิน ซึ่งทิศทางการเคลื่อนที่ใกล้และไกลก็จะเป็นไปตามความเคลื่อนไหวของลม หากสภาพอากาศผิดปกติบางครั้งอาจจะตกลงเร็วกว่ากำหนด หรือนานกว่ากำหนดกว่า 1 สัปดาห์ ขณะที่ทิศทางความเคลื่อนไหวก็จะสามารถตรวจสอบได้ทางสัญญาณภาพและวิดีโอที่ส่งลงมายังคอมพิวเตอร์หรือจอมือถือด้านล่าง
.
สำหรับกิจกรรมดังกล่าว ได้เริ่มดำเนินการครั้งแรก เมื่อเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา เพื่อการพัฒนาของเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่สนใจศึกษา ซึ่งในอนาคตก็อาจจะเปิดเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนต่อไป ซึ่งได้รับความสนใจจากเด็ก ๆ จำนวนมาก