แมทธิว วูลเลอร์ นักวิจัยจาก University of Alaska Fairbanks ศึกษาซากช้างแมมมอธขนยาวเพศผู้ตัวหนึ่ง ซึ่งมันถูกตั้งชื่อว่า “คิก” (Kik) จากการศึกษาทำให้ความเชื่อเก่าๆ เปลี่ยนไป จากที่นักวิทยาศาสตร์คิดว่า ด้วยขนาดตัวและงาอันเทอะทะของมัน อาจจะทำให้มันหากินอยู่ในบริเวณที่จำกัด แต่งาของมัน เสมือน “ไดอารี่ชีวิต” ที่ทำให้โลกยุคปัจจุบันได้รู้ความลับของมันในอดีตว่า เจ้าคิกเดินทางท่องไปทั่วอลาสก้าอันกว้างใหญ่ไพศาลตลอดช่วงชีวิตของมัน

โดยทีมนักวิจัยทำการศึกษาโดยวิเคราะห์สัดส่วนไอโซโทปในงาของเจ้าคิก ซึ่งงามีอายุกว่า 17,000 ปี เพื่อทำแผนที่การเดินทางของมัน เนื่องจากงาของช้างแมมมอธนั้นจะมีการสร้างชั้นใหม่เคลือบทับชั้นเก่าในทุกวัน ทำให้สามารถวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีที่อยู่ในเนื้องาแต่ละชั้น ทำให้รู้ว่าสภาพความเป็นอยู่ของมันว่าเป็นอย่างไรบ้าง เปรียบเสมือนไดอารี่จากธรรมชาติที่ช่วยให้นักวิจัยทำงานได้ง่ายขึ้นมากทีเดียว
.
งาของคิก ซึ่งมีความยาว 1.7 เมตร เมื่อตรวจไอโซโทปในจากธาตุสตรอนเทียมและออกซิเจน พบว่ามันเดินทางมากแล้วกว่า 70,000 กิโลเมตรเป็นระยะทางมากพอที่จะเดินรอบโลกได้เกือบสองเท่า!?
.
จากการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมอย่างกะทันหันเมื่อมันอายุประมาณ 15 ปี ซึ่งหมายความว่ามันอาจจะถูกขับออกจากฝูง และยิ่งในช่วงฤดูหนาวสุดท้ายของชีวิต พบว่ามันหากินอยู่ในบริเวณแคบ ๆ ใกล้กับสถานที่ที่มนุษย์พบซากของมัน นั่นก็คือบริเวณเทือกเขาบรูกส์เรนจ์ (Brooks Range) โดยนักวิจัยคาดว่ามันอาจจะป่วย บาดเจ็บ หรือถูกไล่ล่า จนไม่สามารถเดินทางไปไหนไกลได้ และในงาของมันก็มีไอโซโทปไนโตรเจนที่พุ่งสูงขึ้นมาก ซึ่งหมายถึงมันตายเพราะขาดสารอาหารนั่นเอง
.
ซึ่งเมื่อนำข้อมูลไปเปรียบเทียบกับสภาพอากาศในช่วงเวลาดังกล่าว พบว่าตรงกับช่วงที่จะสิ้นสุดยุคน้ำแข็งพอดี ดังนั้นทีมวิจัยจึงคาดว่าภาวะโลกร้อนทำให้สภาพระบบนิเวศและภูมิประเทศแถบนั้นเปลี่ยนไป ทำให้มันออกหากินได้ยากขึ้น และสุดท้ายเจ้าคิกจึงจบชีวิตลง