ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต แยกจากประมวลแพ่ง ส่งต่อที่ประชุม ส.ส. พิจารณา เพื่อประกบกับร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เฮ! ขรก.มีสิทธิด้วย! ย้ำศึกษาอย่างรอบด้านเพื่อให้เป็นสากลและ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
.
วันนี้ (7 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมครม. ถึงกรณีที่กระทรวงยุติธรรมเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คู่ชีวิต ว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวได้มีมติให้ความเห็นชอบจากที่ประชุมครม.เรียบร้อยแล้ว และได้ส่งเข้าให้สภาผู้แทนราษฎรในทันทีเพื่อประกบกับร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม โดยใช้ร่างของรัฐบาลเป็นหลัก

ดังนั้นร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่ว่าเพศอะไรต้องมีอายุ 17 ปีขึ้นไปทั้งคู่ รวมถึงบิดาและมารดาต้องให้ความยินยอมกรณีผู้เยาว์ อย่างไรก็ตาม จาการรับฟังความเห็นทั้งทางศาสนาแล้ว เช่น มีศาสนาคริสต์ไม่ขัดข้องกับพ.ร.บ.นี้ แต่ขออย่าใช้คำว่า “คู่สมรส” แต่ขอให้คำว่า “คู่ชีวิต”แทน
.
เมื่อถามว่าในร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตจะให้สิทธิแก่บุคคลสามารถตัดสินใจเรื่องการรักษาสุขภาพของคู่ชีวิตด้วยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มี แต่ถ้าไม่มี สามารถแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการได้ ทุกอย่างแก้ปัญหาได้หมดแล้ว ซึ่งเข้าสภาใน 1-2 วันนี้ แต่จะคลอดเสร็จออกมาทันรัฐบาลนี้หรือไม่นั้น แล้วแต่สภาฯ เพราะร่างกฎหมายนี้ต้องเข้าทั้งในสภาผู้แทนฯและชั้นวุฒิสภา
.
ต่อข้อซักถามว่า ในร่างพ.ร.บ.นี้มีกำหนดเรื่องสิทธิและสวัสดิการของข้าราชการ ด้วยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มี ให้สิทธิทุกอย่าง ซึ่งในส่วนที่แตกต่างกัน มีรายละเอียดจำนวนมาก แต่หัวข้อใดที่เป็นสิทธิเราใส่ไว้ให้ ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันในบางอย่าง
.
เช่น เรื่องแบ่งสินสมรสหลังการหย่า ก็มีหลักเกณฑ์ของเขาอยู่ และได้เขียนไว้ให้เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่าง แต่หลักเกณฑ์อาจไม่เหมือนกับกรณีชายกับหญิง 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการจดทะเบรียนสมรส และจดทะเบียนหย่าต้องทำที่ว่าการอำเภอเหมือนกันหมด ซึ่งถ้ามีการหย่าเกิดขึ้นในส่วนนี้ ก็ต้องแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าถ้าคนต่างเพศ
.
เช่น ชาย-หญิงแต่งงานกัน แล้วฝ่ายใดไปมีคู่ชีวิตใหม่ ก็ให้เป็นเหตุหย่าได้ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นอีกฉบับหนึ่งที่รัฐบาลจะเสนอและเข้าสภาพร้อม ดังนั้นรัฐบาลส่งร่างกฎหมายเป็น 2 ฉบับไปเจอกับร่างของฝ่ายค้านก่อนจะนำไปพิจารณาพร้อมกัน
.
เมื่อถามว่าคิดว่าจะสามารถตอบโจทย์กลุ่มที่ร้องอยู่ในตอนนี้ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คงไม่ครบ เพราะการเรียกร้องมีนัยยะที่แตกต่างกัน ซึ่งนี่คือเหตุผลให้นำกลับมาแก้ไขใหม่ เพราะมิฉะนั้นคงจะเข้าสภาเสร็จไปตั้งแต่ปี 2563
.
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวในการร่วมกิจกรรม Pride Month ถึงกรณีที่สัปดาห์นี้สภาจะมีการพิจารณาและลงมติ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ว่า ส่วนตัวนั้นพร้อมสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เพราะเชื่อว่า การสมรสเท่าเทียมจะทำให้ คู่สมรสได้สิทธิ์ต่าง ๆ ที่ควรจะได้ ไม่เช่นนั้น สิทธิ์ต่าง ๆ ที่ควรจะได้ก็ไม่ได้ ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าสมรสเท่าเทียมเป็นเรื่องธรรมชาติ มองว่าเป็นเรื่องของความหลากหลาย