จวกสนั่นเทรนด์ฮิต! โคตรไม่สร้างสรรค์ เอาความกลัวลูกแลกยอดวิว พ่อแม่ปิดประตูแกล้งลูกน้อยให้อยู่กับเอฟเฟกต์ผี ภาพและเสียงสุดหลอน ด้านหมอเด็กถามจุก “หัวใจพ่อแม่ทำด้วยอะไร”
.
จากกรณีคลิปวิดีโอที่กลายเป็นไวรัล ปรากฏภาพพ่อแม่คู่หนึ่งตั้งกล้องโทรศัพท์มือถือและเปิดเอฟเฟกต์ดังกล่าวไว้ จากนั้นได้แกล้งปิดประตู ปิดไฟ และปล่อยลูกน้อยไว้คนเดียว หลังจากที่เด็กเห็นเอฟเฟกต์ผี ก็ร้องไห้อย่างเสียขวัญ และพยายามเปิดประตูออกไปด้านนอก มียอดกดหัวใจ 2.3 ล้านครั้ง และยอดเข้าชมกว่า 22.8 ล้านวิว
.
ฝั่งหนึ่งทำตาม แต่อีกจำนวนมากวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความเหมาะสม ตำหนิการกระทำของพ่อแม่ที่คิดถึงแต่ความสนุกแต่ฝ่ายตนเอง โดยที่ไม่คำนึงถึงจิตใจของลูก
.
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ด้านเด็กและวัยรุ่น ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) เจ้าของแฟนเพจ “บันทึกหมอเดว” กล่าวว่า สืบเนื่องจากกรณีที่ TikTok ในขณะนี้มีเทรนด์การเล่นเอฟเฟกต์ Haunted TikTok เอฟเฟกต์ผีพร้อมเสียงหัวเราะสุดหลอน ที่นิยมเล่นกันทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่สมาชิก TikTok ชาวไทย
.
“ความสนุกของพ่อแม่ แต่ทำให้เด็กเกิดความหวาดวิตกกังวล เครียด เด็กบางคนจิตใจเข้มแข็งก็จริง แต่เราต้องเข้าใจว่า เด็กไม่ได้มีแต่แบบนั้น มีทั้งเด็กที่อ่อนไหวง่าย ภาพพวกนี้จะกลายเป็นภาพจำ มันจะทำให้เกิดอาการฝันร้าย นอนหลับไม่ลง

คำถามก็คือว่า แล้วพ่อแม่เอาความสนุกแบบนี้ไว้ทำอะไร ในขณะที่ลูกเกิดบาดแผลในใจขึ้น ลูกเกิดฝังใจหรือลูกกลายเป็นโรคกลัวความมืดไปเลย เพื่ออะไร หมอยังไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของพ่อแม่ หน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครอง คือ ต้องดูแลลูกให้ได้รับความรัก ความอบอุ่น และไว้วางใจ ไม่ใช่กลายเป็นความหวาดผวา หวาดวิตก”
.
เกี่ยวกับเรื่องนี้ กุมารแพทย์ด้านเด็กชื่อดัง ก็กล่าวต่อว่า การกระทำของผู้ปกครองในลักษณะนี้ อาจส่งผลถึงสภาพจิตใจของลูกในระยะยาวได้
.
“บันไดการพัฒนาพื้นฐานของมนุษย์ตาม อับราฮัม มาสโลว์ (Abraham Maslow) ความจำเป็นขั้นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทุกช่วงวัย มีปัจจัย 4 ได้แก่ บ้าน เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรคแต่บันไดขั้นที่ 2 Sense of Security ความหมายคือ ทำให้เขามีความรู้สึกว่าบ้านนี้ปลอดภัย ไม่ใช่บ้านผีสิง แล้วตอนนี้พ่อแม่เล่นกับประเด็น Sense of Security บ้านกลายเป็นที่ไม่ปลอดภัย นี่คือ พ่อแม่รังแกฉันแท้ๆ ต่อให้เป็นวิธีการทำโทษก็อย่าไปทำ การเอาเด็กไปขังในห้องแล้วบอกว่าเงียบเมื่อไหร่แล้วจะเปิดให้ ผิดหลักจิตวิทยา ทำไม่ได้ครับ เขาเรียกว่า เกิดความแพนิกขึ้นมา มันคือชั่วชีวิต เคยเห็นไหมบางคนกลัวแมลงสาบ กลัวจิ้งจก กลัวความสูง กลัวยันโตเลยนะ แล้วถ้าอันนี้มันเกิดขึ้นจากฝีมือพ่อแม่สร้างขึ้นมา เอาความสนุกของตนเอง แต่เกิดบาดแผลในใจลูก”
.
ทั้งนี้ แม้ผู้เป็นแม่เจ้าของคลิปไวรัล ได้ออกมาอัปเดตหลังจากที่ถูกชาว TikTok ถล่มคอมเมนต์ ในทำนองว่า แต่ละบ้านมีวิธีการเลี้ยงไม่เหมือนกัน และลูกของเธอก็สบายดี แต่ในประเด็นนี้ ก็มีคำถามจากกุมารแพทย์ชื่อดังรายนี้ต่อไปแบบจุกๆ
.
“หมอต้องถามนิดนึง หัวใจของพ่อแม่ทำด้วยอะไร วิธีเลี้ยงลูกต่างกัน รู้มั้ยว่าลูกเองก็ต่างกัน อย่าลืมว่าเด็กไม่ใช่ผ้าขาว ต้องถามใจพ่อแม่ในการทดลองทำแบบนี้ ยอมลงทุนกันขนาดนั้นเลยใช่มั้ย ทำแล้วปรากฏว่ากลายเป็นบาดแผลในใจลูก กลายเป็นความหวาดผวาไปเลย มันได้คุ้มเสียไหมกับความสนุกของพ่อแม่ อีกประเด็นหนึ่ง เด็กวัยที่เขายังช่วยเหลือตัวเองไม่ดีเท่าไหร่นัก มันมีพัฒนาการเรียกว่า Separation Anxiety คือ วิตกกังวลความพลัดพราก อยู่ในระยะ 6 เดือน ถึง 3 ปี สังเกตดู ถ้าเล่นแบบนี้กับเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน เขาไม่ได้สนใจหรอก แต่ถ้าเกิน 6 เดือน ถึง 3 ปี พัฒนาการของเขาถึงแล้ว แล้วพ่อแม่จะรังแกพัฒนาการของลูก เพียงเพื่อทดสอบสภาวะทางจิตใจเพื่ออะไร มันอาจจะไปทำให้ Separation Anxiety มันกลายเป็นภาวะผิดปกติไปเลย แทนที่มันจะหายที่อายุ 3 ขวบ พูดง่ายๆ เวลาเราส่งลูกไปที่โรงเรียนอนุบาล ช่วงอาทิตย์แรก เขาก็จะร้องไห้ ติดพ่อแม่ แต่พออยู่ไปอีกสัปดาห์ เขามีความรู้สึกไว้วางใจ ไม่วิตกกังวลต่อความพลัดพราก นี่พ่อแม่กำลังทำให้ภาวะนี้ยังคงอยู่ สร้างความรู้สึกไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นเพื่ออะไร เพื่อความสนุกของพ่อแม่หรือทดสอบจิตใจความเข้มแข็งของเด็ก ลูกอาจจะเกลียดและกลัวความมืดไปเลยทั้งชีวิตของเขาก็ได้” หมอเดวระบุ