จัดเป็นสถิติที่น่าฮือฮาไม่น้อย เมื่อสื่อออกมาเปิดเผยการประเมินสินทรัพย์ของ ริชี ซูนัค บวกกับมูลค่าสินทรัพย์ของครอบครัว ทำให้เขากลายเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในอังกฤษ และรวยกว่าคิงชาร์ลส์ที่ 3 มากถึง 2 เท่า
.
สื่อธุรกิจชี้ว่า ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ และครอบครัวปัจจุบันมีทรัพย์สินประเมินรวมอยู่ที่ 825 ล้านดอลลาร์อ้างอิงจากสื่อซันเดย์ไทม์ส และทำให้เขากลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยสุดในอังกฤษ และสูงมากกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับทรัพย์สินพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และพระราชินีคามิลลา ที่มีโดยประมาณ 340 ล้านดอลลาร์ และเทียบกับอีลอน มัสก์ เจ้าของเทสลาและสเปซเอ็กซ์ที่ถูกนิตยสารฟ็อบส์จัดลำดับว่าเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกที่ 212 พันล้านดอลลาร์
.
ซูนัคแต่งงานกับ อัคชาตา มูร์ธี (Akshata Murthy) บุตรสาวของ นารายานะ มูร์ธี (Narayana Murthy) มหาเศรษฐีไฮเทคพันล้านอินเดียอาณาจักร Infosys หลังพบเธอที่มหาวิทยาลัยสแตนด์ฟอร์ดระหว่างการศึกษาขั้นบริญญาโทระดับ MBA ที่นั่นหลังจากสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีระดับเกียรตินิยมอันดับ 1 จากคณะปรัชญา การเมือง และเศรษฐกิจ (philosophy, politics, and economics) ของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด โดยซูนัค คว้าทุนฟูลไบรท์ของอเมริกาไปศึกษาต่อที่นั่นในปี 2006
.
การแต่งงานของทั้งคู่ที่มีการเฉลิมฉลองนาน 2 วันอย่างยิ่งใหญ่ และอลังการที่บังกาลอร์ อินเดีย ริชี ซูนัค โดนเสียงวิพากษ์หลายประเด็นเกี่ยวข้องกับชีวิตความร่ำรวยและปมภาษีรายได้ในต่างแดน
.
โดยเขาถูกวิจารณ์อย่างหนักหลังมีภาพสวมรองเท้าหนังแบรนด์หรู PRADA ราคา 500 ดอลลาร์ที่จุดก่อสร้างเมื่อกรกฎาคมปี 2022 เกิดขึ้นในวันเดียวกันกับที่ซูนัคโต้ประเด็นลดภาษี และรวมไปถึงประเด็นอื้อฉาวเมื่อต้นปีนี้ ศรีภรรยาของเขามีสถานะทางภาษี “Non-domicile” ซึ่งกำหนดว่าผู้ที่มีบ้านพักถาวรนอกอังกฤษอาจไม่ต้องจ่ายภาษีอังกฤษสำหรับรายได้จากต่างแดน ส่งผลทำให้มูร์ธีไม่ต้องจ่ายภาษีให้อังกฤษสำหรับรายได้จากต่างแดนของตัวเอง ซึ่งบิสซิเนสอินไซเดอร์รายงานว่า เธอมีหุ้นอยู่ใน Infosys ที่มีฐานอยู่ในอินเดีย
.
นอกจากนี้ ภรรยาของซูนัคยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริษัทลงทุน Catamaran Ventures ของพ่อ และยังถือหุ้นอยู่ในหลายบริษัท
.
เนชันแนลเวิลด์รายงาน 3 ก่อนหน้าว่า ประเด็นอื้อฉาวสถานะภาษีของมูร์ธี ผู้เป็นภรรยายังเกิดขึ้นพร้อมไปกับประเด็นการถือกรีนการ์ดสหรัฐฯ ของซูนัค ที่เขาถือมาจนถึงเดือนคุลาคม ปี 2021 หรือนานกว่า 6 ปีหลังจากเขาดำรงตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาอังกฤษและนานกว่า 18 เดือนหลังจากเขาได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน ขึ้นเป็นรัฐมนตรีการคลังอังกฤษ
.
สถานะผู้ถือกรีนการ์ดสหรัฐฯ ส่งผลต้องทำให้ผู้ถือมีหน้าที่จ่ายภาษีให้รัฐบาลสหรัฐฯ สำหรับรายได้ที่เกิดนอกสหรัฐฯ ทั้งหมด ซึ่งโฆษกซูนัค ยืนยันว่า ซูนัคยื่นภาษีสหรัฐฯ ระหว่างที่เขามีสถานภาพอยู่แต่ชี้ว่าเป็นไปตามสถานะไม่ใช่ผู้อาศัยเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ
.
พวกเขากล่าวว่า การถือกรีนการ์ดสหรัฐฯ เพื่อความสะดวกในด้านการเดินทางและยกเลิกก่อนการเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการในฐานะรัฐมนตรีคลังอังกฤษ แต่ทำให้เกิดคำถามว่าการมีกรีนการ์ดสหรัฐฯ นี้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางภาษีด้วยหรือไม่
.
บิสซิเนสอินไซเดอร์อ้างอิงเดอะการ์เดียน รายงานเมื่อพฤศจิกายนปี 2020 ว่า ซูนัคไม่ได้แจ้งต่อทางการอังกฤษถึงทรัพย์สินมหาศาลของภรรยาซึ่งอาจเข้าข่ายละเมิดต่อหลักการที่ว่ารัฐมนตรีอังกฤษมีหน้าที่ต้องแจ้งทรัพย์สินความมั่งคั่งส่วนตัวทั้งหมดเพื่อความโปร่งใส แต่ทว่าในการสอบสวนตามมาหลังจากนั้น อ้างอิงจากสื่อ CSW รายงานเมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมาพบว่า เขาไม่ได้ละเมิดต่อกฎเกณฑ์ทางภาษีอังกฤษแต่อย่างใด