ลืมหมูเห็ดเป็ดไก่วัวควายแกะและสัตว์น้ำไปก่อน เพราะ “โปรตีนทางเลือกจากแมลง” อยู่ในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้แล้ว ขอตัวไปจับจิ้งหรีดมาขายแป๊บ จะไม่ให้ตาลุกได้ไง ในเมื่อคาดการณ์กำไรปีละสามหมื่นล้าน กษ.ขานรับ “ฮับแมลงโลก”

อย่าดูถูกอุตสาหกรรม “แมลง” เพราะกำไรของมันจะทำคุณ อ้าปากค้าง ในขณะที่ “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ประกาศเร่งเครื่องนโยบาย “ฮับแมลงโลก” รับเทรนด์อุตสาหกรรมอาหารใหม่ (Novel Food) พร้อมประเดิมเปิดตลาดด้วย “จิ้งหรีด” ส่งผลิตภัณฑ์แปรรูปเจาะตลาดโลก 3 หมื่นล้านล้านบาท โดยคู่ค้ารายใหญ่ก็คือ “เม็กซิโก” เพื่อสอดรับแนวทางขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO : Food and Agriculture Organization) ที่ประกาศให้ “แมลงเป็นแหล่งอาหารในอนาคตของโลก” ซึ่งทาง FAO คาดการณ์ว่าจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ของโลกซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนเพิ่มขึ้น 30% ภายใน 15 ปีข้างหน้า

ข้อมูลด้านโภชนาการจากผลการวิจัยเรื่องอาหารแห่งอนาคต (Future Food) และอาหารใหม่ (Novel Food) ระบุว่า “แมลง” เป็นสุดยอดของแหล่งอาหาร หรือ Super food ประเภทโปรตีน มีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ทั้งแคลเซียม ซิงค์ วิตามินบี 2 บี 12 ในปริมาณสูง มี โอเมกา 3 6 9 รวมทั้งไฟเบอร์ ซึ่งเป็นไฟเบอร์จากสัตว์เพียงชนิดเดียว ช่วยปรับสมดุลในลำไส้ นอกจากนี้ยังมีกรดอะมิโนจำเป็นต่อร่างกายอีกกว่า 10 ชนิด

ขณะเดียวกัน องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้ส่งเสริมให้แมลงเป็นอาหารสำหรับคนทั่วโลก ทั้งนี้ ตามข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร พบว่าประเทศไทยมีแมลงที่มีคุณค่าอาหารอย่างน้อย 194 ชนิด อาทิ จิ้งหรีด จิ้งโกร่ง ตั๊กแตน หนอน และดักแด้ไหม ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยนับเป็นตลาดหลักในการส่งออกแมลงไปขายทั่วโลกอยู่แล้ว

ขณะที่ประเทศไทยเดินเครื่องนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 อย่างเต็มกำลัง โดยมีโต้โผใหญ่ “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ผลักดันสุดลิ่มตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตโปรตีนจากแมลงหรือ “ฮับแมลงโลก”

ข้อมูลจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ระบุว่าตลาดแมลงรับประทานได้ทั่วโลกมีอัตราขยายตัว 23.8% ระหว่างปี 2018-2023 และคาดว่าในปี 2023 จะมีมูลค่า 37,900 ล้านบาท ขณะที่ตลาดส่งออกของไทย ปีละ 1,000 ล้านบาท กำลังการผลิต 4,000 ตัน ส่งออกรูปแบบสด แช่เเข็ง แปรรูปทอด คั่ว โดยเฉพาะที่นิยมมากสุด คือ นำไปทำเป็นแป้งผสมอาหาร ทั้งเบเกอรี่ พาสต้า สำหรับผลิตภัณฑ์แมลงที่ได้รับความนิยมในตลาดโลกมีหลายชนิด ทั้งในรูปแบบแมลงทั้งตัวและในรูปแบบอาหารแปรรูป เช่น แมลงผง โปงตีนเชค โปรตีนบาร์ เครื่องดื่ม เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนตลาดสูงสุดคือแมลงผง ร้อยละ 24

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดนโยบายให้ประเทศไทยเป็น “ฮับแมลงโลก” หรือ ผู้ส่งออกสินค้าจิ้งหรีดหลักของโลกตั้งเป้าหมายในการพัฒนาตั้งแต่การผลิต การแปรรูปและการตลาดด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่เพื่อสนับสนุนฟาร์มจิ้งหรีด และอุตสาหกรรมอาหารใหม่ (Novel Food) ในการเจาะตลาดโลก 3,000 ล้านบาท

ประเทศเม็กซิโกได้ประกาศอนุญาตการนำเข้าผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดจากไทยเป็นทางการ โดยได้ประกาศข้อกำหนดด้านสุขอนามัยสัตว์ (Zoosanitary Requirement Sheet หรือ HRZ) สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ผงแป้งจิ้งหรีดสายพันธุ์สะดิ้งจากไทย ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรฯ ในการผลักดันสินค้าแมลงกินได้ของไทยสู่ตลาดโลก ต่อมา 19 มีนาคม 2564 เม็กซิโกได้ขยายขอบข่ายสินค้าที่อนุญาตการนำเข้าเพิ่มเติมอีก 2 รายการ ได้แก่ จิ้งหรีดปรุงสุก (Cooked cricket) และจิ้งหรีดแช่แข็ง (Frozen cricket) โดยได้ประกาศข้อกำหนดด้านสุขอนามัยสัตว์ (Zoosanitary Requirement Sheet หรือ HRZ)

สำหรับสายพันธุ์จิ้งหรีดที่ไทยได้รับอนุญาตส่งออกไปยังเม็กซิโก คือ จิ้งหรีดทองแดงลาย หรือสะดิ้ง (Acheta domesticus) เท่านั้น ในส่วนผลิตภัณฑ์ที่เม็กซิโกอนุญาตนำเข้า ได้แก่ จิ้งหรีดผง จิ้งหรีดปรุงสุก และ จิ้งหรีดแช่แข็ง โดยมีเงื่อนไขต้องเลี้ยงในฟาร์มที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP (การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด หรือ มกษ. 8202-2560) สินค้าต้องไม่มีการปนเปื้อนโปรตีนจากสัตว์เคี้ยวเอื้อง ต้องได้ใบรับรองสุขอนามัย (health certificate) จากกรมปศุสัตว์ประกอบการส่งออก

อย่างไรก็ตาม การเปิดตลาดผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดไปเม็กซิโกได้สำเร็จ ถือเป็นก้าวสำคัญของการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมจิ้งหรีดและแมลงกินได้ของไทยเข้าสู่ตลาดมาตรฐานสูงที่ให้ความสำคัญต่อเรื่องความปลอดภัยอาหารตลอดกระบวนการผลิต ตั้งแต่มาตรฐานการเพาะเลี้ยง การแปรรูป ไปจนถึงการส่งออก และเป็นใบเบิกทางสำหรับต่อยอด การการขยายตลาดและขอบเขตผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมสำหรับจิ้งหรีดและแมลงประเภทอื่นที่มีศักยภาพเพิ่มเติมไปยังเม็กซิโก

การเปิดตลาดผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดไปเม็กซิโก เป็นประตูสู่ภูมิภาคละตินอเมริกาที่มีการยอมรับการบริโภคสินค้าแมลงกินได้ในระดับสูง และนำไปสู่การขยายตลาดไปในภูมิภาคอเมริกาเหนือต่อไปได้ในอนาคต