มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 รายระหว่างประท้วงต่อต้านตอลิบานในเมืองจาลาลาบัดของอัฟกานิสถานเมื่อวันพุธ(18ส.ค.) จากการเปิดเผยของผู้เห็นเหตุการณ์ ขณะที่พวกอิสลามิสต์กลุ่มนี้เคลื่อนเข้าสู่ศูนย์รวมอำนาจ และบรรดชาติตะวันตกกำลังเร่งอพยพออกจากสนามบินคาบูลที่เต็มไปด้วยความโกลาหล ส่วนประธานาธิบดีอัชราฟ กานี ออกมาปฏิเสธ หลังมีข่าวว่าเขาหลบหนีไปพร้อมกับเงินมหาศาล

ประชาชนหลายพันคนพยายามหลบหนีออกนอกอัฟกานิสถาน ด้วยความหวั่นกลัวว่าประเทศจะกลับสู่การบังคับใช้กฎหมายอิสลามอย่างเคร่งครัด เหมือนครั้งที่ตอลิบานก้าวสู่อำนาจ 1996-2001 ก่อนระบอบการปกครองของพวกเขาจะล่มสลายเมื่อ 20 ปีก่อน

ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่าสมาชิกติดอาวุธของตอลิบานขัดขวางผู้คนไม่ให้เข้าไปในเขตรั้วของสนามบิน ในนั้นรวมถึงคนที่มีเอกสารที่จำเป็นสำหรับการเดินทาง “มันเป็นหายนะเต็มขั้น ตอลิบานยิงปืนขึ้นสู่ท้องฟ้า ผลักผู้คน ทุบตีพวกเขาด้วยปืนอาก้า”

เจ้าหน้าที่ตอลิบานยืนยันผู้บัญชาการและทหารของพวกเขายิงปืนขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อสลายฝูงชนบริเวณด้านนอกของสนามบินคาบูล แต่บอกกับรอยเตอร์ว่า “เราไม่มีเจตนาทำร้ายใคร”

เวนดี เซอร์แมน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวในวอชิงตัน ว่าเจ้าหน้าที่สหรัฐฯแจ้งไปยังตอลิบาน “เราคาดหมายว่าพวกเขาจะเปิดทางพลเมืองอเมริกันทุกคน พลเมืองของประเทศที่ 3 ทั้งหมด และชาวอัฟกันทุกคนที่ปรารถนาออกนอกประเทศ เดินทางออกมาอย่างปลอดภัยและปราศจากการรังควานใดๆ”

อย่างไรก็ตาม ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่าทหารอเมริกา 4,500 นายในกรุงคาบูล ไม่สามารถช่วยพาผูุ้คนไปยังสนามบินเพื่ออพยพ สืบเนื่องจากกำลังพลเหล่านั้นมุ่งเน้นไปที่การคุ้มกันสนามบินเป็นสำคัญ และยอมรับว่าการอพยพไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

คณะรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มจี 7 มีกำหนดหารือกันเกี่ยวกับความพยายามอพยพและเสาะหาเที่ยวบินร่วมกัน ระหว่างประชุมทางไกลในวันพฤหัสบดี(19ส.ค.)

หลังจากยึดอำนาจเบ็ดเสร็จเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ตอลิบานยืนยันว่าจะมีหาทางแก้แค้นศัตรูเก่าและจะเคารพสิทธิสตรีภายใต้กรอบของกฎหมายอิสลาม อย่างไรก็ตามในวันพุธ(18ส.ค.) ผูุ้เห็นเหตุการณ์ 2 คนและอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจรายหนึ่ง เปิดเผยกับรอยเตอร์ ว่านักรบตอลิบานเปิดฉากยิงใส่ ตอนที่ชาวบ้านพยายามติดธงชาติอัฟกานิสถานบริเวณจัตุรัสแห่งหนึ่งในตัวเมือง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 รายและบาดเจ็บนับสิบคน

รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทนประธานาธิบดีอัชราฟ กานี ซึ่งหลบหนีลี้ภัยอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อาจมาในรูปแบบของสภาผู้ปกครอง โดยมีไฮบาตุลเลาะห์ อาคุนซาดา ผู้นำสูงสุดของตอลิบาน ดูแลในภาพรวม

กานี ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดจากอดีตคณะรัฐมนตรี ต่อกรณีหลบหนีออกจากอัฟกานิสถาน ตอนที่ตอลิบานจู่โจมเข้าสู่กรุงคาบูลในวันอาทิตย์(15ส.ค.) อย่างไรก็ตามล่าสุดประธานาธิบดีรายนี้ออกมาตอบโต้ว่าเขาทำตามคำแนะนำจากบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐบาล พร้อมปฏิเสธว่าไม่ได้หอบเงินจำนวนมากไปด้วย หลังก่อนหน้านี้สื่อมวลชนรายงานว่า กานี หลบหนีออกนอกอัฟกานิสถานพร้อมกับเงินสดจำนวนมหาศาล

สำนักข่าวอาร์ไอเอของรัสเซียรายงานอ้างสถานเอกอัครราชทูตรัสเซีย ประจำกรุงคาบูลระบุว่า กานี หลบหนีออกจากประเทศ พร้อมกับขนเงินใส่ในรถยนต์ 4 คัน และเฮลิคอปเตอร์ 1 ลำ โดยกานีได้นำเงินใส่ในรถยนต์และเฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวจนเต็ม และจำเป็นต้องทิ้งเงินบางส่วนบนรันเวย์ของสนามบิน เนื่องจากไม่สามารถขนเงินทั้งหมดออกจากประเทศได้

กานี อ้างว่าเขาตัดสินใจเดินทางออกจากอัฟกานิสถานเพื่อต้องการหลีกเลี่ยงการนองเลือดและการปะทะกับกลุ่มตอลิบาน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อประชาชนหลายล้านคนในกรุงคาบูล “ถ้าผมอยู่ ผมจะได้เห็นการนองเลือดในคาบูล” กานีกล่าวในวิดีโอบนเฟซบุ๊ก ซึ่งนับเป็นการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะครั้งแรกนับตั้งแต่เป็นที่ยืนยันว่าเขาหลบหนีไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

เจ้าหน้าที่ตะวันตกรายหนึ่งเปิดเผยกับรอยเตอร์ว่ามีบรรดานักการทูต เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่บรรเทาทุึกข์และชาวอัฟกัน ราวๆ 5,000 คน อพยพออกจากกรุงคาบูลในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา และเที่ยวบินทหารยังคงปฏิบัติภารกิจอพยพทั้งวันทั้งคืน

ตอลิบานบ่งชี้ว่าพวกเขาจะบังคับใช้กฎหมายที่ไม่หนักหน่วงรุนแรงเท่ากับเมื่อครั้งที่ปกครองประเทศแห่งนี้ระหว่างปี 1996-2001 และเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสรายหนึ่งเน้นย้ำในวันพุธ(18ส.ค.) ว่าทางพวกผู้นำของกลุ่มจะเปิดเผยตัวต่อสาธารณชนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน “อย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป โลกจะได้เห็นผู้นำของเราทุกคน”

เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสรายนี้เปิดเผยด้วยว่าบทบาทของสตรี ในนั้นรวมถึงสิทธิการทำงานและสิทธิด้านการศึกษาของพวกเธอ และแนวทางการแต่งตัวของผู้หญิง ท้ายที่สุดแล้วจะเป็นการตัดสินใจของสภานักวิชาการอิสลาม “พวกเขาจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าผู้หญิงควรสวมญิฮาบ บูร์กา หรือแค่ผ้าคลุมหน้ากับเสื้อคลุมตัวยาว หรือไม่ มันขึ้นอยู่กับพวกเขา”

ภายใต้การปกครองของตอลิบานระหว่างปี 1996-2001 สตรีถูกห้ามทำงาน เด็กผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้ไปโรงเรียน และผู้หญิงต้องสวมชุดบูร์กาปิดบังเรือนร่างทั้งหมด ยามออกไปนอกบ้าน

อย่างไรก็ตามชาวอัฟกานิสถานจำนวนมากแสดงความเคลือบแคลงใจต่อคำสัญญาของตอลิบาน “ครอบครัวของฉันเคยใช้ชีวิตอยู่ภายใต้การปกครองของตอลิบาน บางทีพวกเขาอาจอยากเปลี่ยนแปลงจริงๆหรือเปลี่ยนไปแล้ว แต่เวลาเท่านั้นที่จะพิสูจน์ และมันจะชัดเจนเร็วๆนี้” เฟริสตา คาริมิ เจ้าของร้านตัดเย็บเสื้อผ้าสำหรับสตรีกล่าว