“หมอนิธิ” เผย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ลงนามความร่วมมือกับ แซดพี เทอราพิวติกส์ (ZP Therapeutics) หน่วยธุรกิจภายใต้ บริษัทซิลลิค ฟาร์มา ในการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นา จำนวน 8 ล้านโดส สำหรับการใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับประชาชนในปี 2565

วันนี้ (14 ก.ย.) ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเผยว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ลงนามความร่วมมือกับ แซดพี เทอราพิวติกส์ (ZP Therapeutics) หน่วยธุรกิจภายใต้ บริษัทซิลลิค ฟาร์มา ในการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นา จำนวน 8 ล้านโดส สำหรับการใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับประชาชนในปี 2565 ทั้งนี้ มีแผนที่จะจัดสรรและกระจายวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นาให้แก่กลุ่มองค์กรนิติบุคคล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงสถานพยาบาล ตลอดจนกลุ่มเปราะบางทางสังคมที่เคยได้รับการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มจากทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นกลุ่มแรกก่อน เนื่องจากประชาชนในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.เป็นต้นมา ซึ่งจะเปิดให้ยื่นจองขอรับการจัดสรรวัคซีนโมเดอร์นาในช่วงเดือน ต.ค. โดยมีราคาขาย พร้อมประกันภัยคุ้มครองผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาในราคาเดียวกันทั่วประเทศต่อไป ทั้งนี้คาดว่าวัคซีนโมเดอร์นาลอตแรกจะส่งมอบช่วงไตรมาสแรก ปี 2565 และจะทยอยส่งจนถึงไตรมาสที่สาม

เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่าวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นา มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อจากการทดลองทางคลินิกในระยะที่ 3 สูงถึง 94.1% อาการข้างเคียงอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ เช่น อาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง การแพ้รุนแรง พบประมาณ 2.5 ราย ต่อ 1 ล้านโด๊ส หรือรายงานการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบของวัคซีนชนิด mRNA พบได้น้อย อยู่ที่ 12 ราย ต่อ 1 ล้านโด๊สในประเทศสหรัฐอเมริกา และส่วนมากสามารถรักษาได้ นอกจากนี้ ผลการศึกษาเบื้องต้นของการใช้วัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นา เป็นเข็มกระตุ้นในปริมาณขนาด 50 ไมโครกรัม ต่อสายพันธุ์เบต้า แกมม่า และเดลต้า พบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงถึง 32 เท่า, 43.6 เท่า และ 42.3 เท่า