ผู้หญิงอัฟกันอาจไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานร่วมกับผู้ชาย จากการเปิดเผยของบุคคลระดับสูงรายหนึ่งของตอลิบาน จุดยืนซึ่งหากบังคับใช้อย่างเป็นทางการ เท่ากับว่าจะมีการห้ามจ้างงานสตรีในหน่วยงานราชการต่างๆ ธนาคาร บริษัทสื่อสารมวลชนและธุรกิจอื่นๆ



วาฮีดดุลเลาะห์ ฮาชิมิ บุคคลระดับสูงในตอลิบานและมีความใกล้ชิดกับผู้นำของกลุ่ม เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่าตอลิบานจะบังคับใช้ชารีอะห์หรือกฎหมายอิสลามเวอร์ชั่นของพวกเขาเต็มขั้น แม้เผชิญกับแรงกดดันจากประชาคมนานาชาติให้อนุญาตสตรีมีสิทธิทำงานในอาชีพใดก็ตามที่พวกเธอปรารถนา
นับตั้งแต่จู่โจมเข้าสู่อำนาจเมื่อเดือนที่แล้ว เจ้าหน้าที่ตอลิบานบอกว่าผู้หญิงจะได้รับอนุญาตให้ทำงานและศึกษาเล่าเรียนภายใต้กรอบข้อจำกัดของชารีอะห์ อย่างไรก็ตามมีความไม่แน่นอนอย่างกว้างขวางว่ามันจะส่งผลกระทบในทางปฏิบัติอย่างไรต่อหน้าที่การงานของสตรี เนื่องจากเมื่อครั้งที่ตอลิบานปกครองประเทศระหว่างปี 1996-2001 พวกผู้หญิงถูกห้ามทำงานและไม่ได้รับอนุญาตให้ศึกษาหาความรู้
.
ประเด็นนี้คือเรื่องที่ประชาคมนานาชาติให้ความสำคัญอย่างมาก และอาจกระทบต่อเงินช่วยเหลือและความช่วยเหลืออื่นๆที่มอบแด่อัฟกานิสถาน ประเทศที่กำลังเผชิญกับเจ็บปวดท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ
.
“เราต่อสู้มาเกือบ 40 ปี เพื่อนำระบบกฎหมายชารีอะห์มาสู่อัฟกานิสถาน” ฮาชิมิให้สัมภาษณ์ “ชารีอะห์ไม่อนุญาตให้ผู้ชายและผู้หญิงอยู่ด้วยภัน หรือนั่งอยู่ภายใต้หลังคาเดียวกัน ผู้ชายและผู้หญิงไม่สามารถทำงานด้วยกัน มันชัดเจน พวกเธอไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสู่สำนักงานของเรา และทำงานในคณะรัฐมนตรีของเรา”
.
ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าความคิดเเห็นของฮาชิมินั้นสะท้อนนโยบายต่างๆของรัฐบาลใหม่หรือไม่ แม้คำพูดนี้ดูจะเลยเถิดเกินกว่าความเห็นต่อสาธารณะของเจ้าหน้าที่คนอื่นๆบางส่วน
.
ในช่วงไม่กี่วันหลังจากตอลิบานเข้ายึดครองกรุงคาบูล ซาบิฮุลเลาะห์ มูจาฮิด โฆษกของตอลิบานให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่าผู้หญิงเป็นส่วนสำคัญของชุมชน และพวกเธอจะได้รับอนุญาตให้ทำงานในภาคส่วนต่างๆ นอกจากนี้แล้วเขายังพูดอย่างเจาะจงนับรวมลูกจ้างผู้หญิง ระหว่างเรียกร้องขอให้เหล่าข้าราชการกลับมาปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง
.
อย่างไรก็ตามในการแถลงจัดตั้งคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กันยายน ปรากฏว่าไม่มีผู้หญิงดำรงตำแหน่งในรัฐบาลแม้แต่รายเดียว และมีรายงานอย่างกว้างขวางว่าพวกสตรีถูกบีบให้ออกจากงาน
.
ฮาชิมิ บอกว่ามาตรการแบนผู้หญิงอาจบังคับใชกับภาคส่วนอื่นๆด้วย อย่างเช่นสื่อสารมวลชนและธนาคาร ภาคอุตสากรรมที่สตรีเริ่มมีบทบาทโดดเด่นมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ตอลิบานถึงคราวล่มสลายในปี 2001 และรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนตะวันตกได้รับการแต่งตั้งให้เข้ามาทำหน้าที่แทน
การติดต่อระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงนอกเคหะสถานจะได้รับอนุญาตในบางกรณี ยกตัวอย่างเช่นการไปพบแพทย์ผูุ้ชาย ฮาชิมิกล่าว นอกจากนี้แล้วผู้หญิงจะได้รับอนุญาตให้เล่าเรียน ทำงานในภาคการศึกษาและการแพทย์ หากสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆมีการแยกกันโดยเฉพาะ
.
“แน่นอนว่าเราต้องการผู้หญิง ยกตัวอย่างเช่นด้านการแพทย์ ด้านการศึกษา เราจะมีสถาบันต่างๆที่แยกต่างหากสำหรับพวกเธอ โรงพยาบาลแยก บางทีอาจมหาวิทยาลัยแยก โรงเรียนแยก มัดเราะซะฮ์แยก” เขากล่าว
.