เราถามคำถามชายวัย 45 คนนี้ด้วยคำถามที่ไม่ได้ซับซ้อน…ถ้าจะให้เขากล่าวถึงรัชกาลที่9…เขาจะพูดว่าอะไร คำตอบที่ได้ทำให้เราน้ำตาเอ่อ…”ไม่มีอารยธรรมทางภาษาใดของมนุษยชาติ จะสามารถบัญญัติศัพท์คำที่มหาศาลได้เท่าความดีของพระองค์ และความรักที่มีต่อพระองค์ได้…” #CocoNews กำลังคุยกับ เอก-อดิสร สันติสุขนิรันดร์ นักสะสมพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี

ในวัยที่เป็นเด็ก เวลาสองทุ่มเป็นเวลาก่อนนอนที่ยังได้รับอนุญาตให้ดูโทรทัศน์ เด็กชายเอกได้มีโอกาสรับชม “ข่าวในพระราชสำนัก” กับคุณแม่อยู่ทุกค่ำคืน เขาในวัยนั้นมีคำถาม ทำไมท่านทำงานทุกวัน…ทำไมต้องเดินไปในที่ไกลๆ กันดาร…ทำไมท่านไม่ทรงพักบ้าง

เมื่อโต เขาจึงเข้าใจ ว่ามหาบุรุษผู้มีแต่ให้…ไม่ได้มีอยู่แค่ในนิทาน พระราชาที่เปี่ยมด้วยทศพิธราชธรรม น้ำพระราชหฤทัยกว้างขวางไพศาล ที่ทำเพื่อพสกนิกรตลอดพระชนม์ชีพ…มีจริง และสถิตย์เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมของเขานี่เอง

ครอบครัวของเขามีธุรกิจทำเฟอร์นิเจอร์ ส่วนตัวของเขา เมื่อโตขึ้น เลือกทำธุรกิจตัวเองคือร้านรับทำกรอบรูป พระอิริยาบถในพระบรมฉายาลักษณ์ ในโทรทัศน์ ติดตรึงตราในใจของเขามาตั้งแต่เด็ก และเป็นโชคดีเหลือเกิน ที่เขา…ได้รับพระราชทานปริญญาบัตร จากพระหัตถ์ ของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่9

“ผมเรียนวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผมเป็นรุ่นสุดท้ายที่รับพระราชทานกับในหลวงรัชกาลที่9 จริงตอนนั้นเกือบจะไม่ได้รับ แต่มีการเปิดหอประชุมสำหรับรับพระราชทานปริญญาหอใหม่ ท่านจึงเสด็จฯ แล้วก็พระราชทานปริญญา ท่านเสด็จมข.ทุกปี จนกระทั่งพระชนมายุมากแล้ว จึงหยุด รุ่นก่อนๆ ผม เป็นลานโล่งๆ ไม่มีแอร์ มีแค่เวที ท่านก็มาพระราชทานให้ทุกปี และการรับพระราชทานปริญญาในครั้งนั้นเอง ที่ทำให้ผมประทับใจมาจนชั่วชีวิต ผมอยู่คณะวิศวะ ซึ่งอยู่กลางๆ คนเป็นพัน คนเยอะมาก แต่เชื่อไหม ท่านใจจดในจ่อในสิ่งที่ทรงทำ ท่านใส่ใจพวกเราทุกคนจริงๆ”

นักสะสมพระบรมฉายาลักษณ์รายนี้ ย้อนรำลึกความทรงจำอันแสนเปี่ยมสุข ที่หล่อเลี้ยงจิตใจมาจนถึงทุกวันนี้ ในวันนั้น ด้วยความประหม่าที่สุดในชีวิต เขาหยุดก่อนถึงจุดที่ควรหยุด ทำให้การเอื้อมมือไปรับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ ออกมาเป็นภาพที่เขาก้มตัว และยืดแขนออกไปจนสุดมือ แน่นอนว่าภาพที่ถ่ายออกมาจะต้องไม่สวย

“คุณรู้ไหมท่านทำอย่างไร”

แม้จะเป็นเรื่องราวในความทรงจำกว่า 25 ปีมาแล้ว อดิสรก็เล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น เหมือนเกิดขึ้นเมื่อวาน เหมือนความประหม่าในพระบุญญาบารมียังคงอบอวลอยู่ในบรรยากาศอันเป็นปัจจุบัน

“ท่านทรงดึงใบปริญญาผมกลับ คุณคิดดู ท่านพระราชทานมาแล้วเป็นพัน แต่แค่ผมยืนจุดผิด ท่านทรงใส่ใจมาก ท่านดึงกลับ เอาจริงๆ ตอนนั้นผมช็อคสุดในชีวิต ตัวชา แต่เหมือนรู้ ผมขยับไปอีกหนึ่งก้าว ท่านก็ทรงยื่นพระหัตถ์พระราชทานใหม่ คือท่านทรงห่วง และทรงทราบเบื้องพระยุคลบาทว่า นี่คือห้วงเวลาแห่งชีวิตของคนที่ร่ำเรียนมาตลอดและมีวันนี้เป็นเสมือนของขวัญ ท่านอยากให้ภาพถ่ายรับพระราชทานปริญญาของทุกคนออกมาดูดี ดูสวย ดูสง่า เพราะภาพนี้จะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต และเมื่อผมขยับไปอีกหนึ่งก้าว ภาพของผมแม้จะดูโน้มตัวไปหน่อย แต่ยังจัดว่าเป็นสัดส่วนภาพที่สวย คิดดูเอาเถิด ท่านละเอียดละออถึงปานนั้น ใส่ใจในทุกรายละเอียด อ่อนโยนมากที่สุดในโลก ผมเป็นคนที่เท่าไหร่พันไม่รู้ คณะเราอยู่ตรงกลาง แต่ท่านใส่ใจทุกการกระทำ ผมเชื่อว่าท่านรู้ว่านี่คือโมเมนต์ที่ทุกคนรอคอยหลังเรียนมาหนักจนจบ แล้วผมไปดูรูปเพื่อนผม ไปดูเลยนะ สองพันว่าภาพ ออกมาดีทุกภาพ เป๊ะทุกภาพ นี่เป็นพระมหากรุณาธิคุณของท่าน ที่ผมได้รับอย่างใกล้ที่สุดในชีวิต”

อดิสรเล่าว่า เขาเริ่มสะสมพระบรมฉายาลักษณ์และพระบรมสาทิสลักษณ์อย่างจริงจังนับแต่นั้น ไปเดินตามตลาดคลองถม ไปพูดคุยกับคนที่ถ่าย ซื้อเก็บไว้บูชาจนเกินจะนับได้ว่ามากเท่าไหร่ บางครั้งไปเจอผู้ขายที่เป็นผู้รู้ แนะนำโรงงานที่ผลิต เขาก็ตามไปถึงโรงงาน ไปหามาเก็บไว้บูชา

“ผมเก็บไว้ทั้งในรูปแบบเข้าเฟรมสารพัดขนาด จนไม่มีที่วางเฟรม ผมม้วนใส่กระบอก เก็บไว้เป็นไฟล์บ้าง นี่คือความสุขทางใจ เป็นที่พึ่งทางใจ”

และเขาน่าจะเป็นเจ้าแรกของประเทศไทย ที่ทำกิจการกรอบรูป และแนะนำให้เจ้าของกิจการแขนงต่างๆ ที่สนใจอยากได้พระบรมฉายาลักษณ์ไว้เทิดทูนบูชา เลือกองค์ที่พระอิริยาบถอยู่ในงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการนั้นๆ

“ผมคิดแต่ค่ากรอบ ส่วนพระบรมฉายาลักษณ์ ผมไม่ได้คิด เพราะผมถือว่าเรารักท่านเหมือนกัน ผมอยากให้มีคนได้ไปบูชามากที่สุด อย่างกิจการมอเตอร์ไซค์ จะมีพระบรมฉายาลักษณ์องค์หนึ่ง ทรงเวสป้า คนจะไม่ค่อยเห็น เขาก็จะแนะนำว่า พี่เอาพระบรมฉายาลักษณ์องค์นี้ไปติดที่กิจการพี่ ที่ห้องทำงานพี่ ที่โรงงานพี่ เป็นสิริมงคล”

แล้วก็มีลูกค้าที่มาหาในลักษณะนี้มากมาย

“พระองค์ท่านเก่งทุกอย่าง ทรงทำงานทุกอย่าง ผมยังไม่เคยหาพระบรมฉายาลักษณ์ให้คนในอาชีพไหนไม่ได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว คือท่านมีทุกอิริยาบถการทรงงานในทุกศาสตร์และศิลป์จริงๆ”

CocoNews ถามคำถามชายวัย 45 คนนี้ด้วยคำถามที่ไม่ได้ซับซ้อน…ถ้าจะให้เขากล่าวถึงรัชกาลที่9…เขาจะพูดว่าอะไร คำตอบที่ได้ทำให้เราน้ำตาเอ่อ…”ไม่มีอารยธรรมทางภาษาใดของมนุษยชาติ จะสามารถบัญญัติศัพท์คำที่มหาศาลได้เท่าความดีของพระองค์ และความรักที่มีต่อพระองค์ได้…”

วันนี้ในปีนั้น…ปีที่มณฑลประเทศคล้ายจะมีหมอกดำปกคลุมอยู่ทั่วขวานทอง วันที่พระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักที่เทิดทูน ที่สากลประเทศถวายสมัญญาสุดยิ่งใหญ่หาใดเปรียบ…King of king เสด็จสวรรคต 13 ธันวาคม 2559 #CocoNews ยิงคำถาม…ตอนนั้นทำอะไรอยู่

“ผมใจไม่ดีตั้งแต่ 12 จำได้ไหม ข่าวลือเยอะมาก ผมไปที่ศิริราชตอนกลางคืน ไปอยู่ตรงนั้น ผมเห็นพี่ป้าน้าอา คุณตาคุณยาย จากทุกสารทิศ ไปรวมอยู่จุดเดียว ไปยืนอยู่ที่ลานพระราชบิดา ทุกคนเงยหน้าจ้องไปยังหน้าต่างชั้น16 อันเป็นที่ประทับรักษาพระวรกาย ทุกคนยกมือไหว้ ร่ำไหด้วยใจคอไม่ดี ขวัญหายไปแล้ว ธูปที่จุดถวายบังคมพระราชบิดาคลุ้งจนมองอะไรไม่เห็น…และผมเชื่อว่าทุกคนขอสิ่งเดียวกัน…ขอให้ทรงพระเจริญ สถิตย์เป็นมิ่งขวัญสืบไป”

“วันที่13 ผมจำได้ ผมดูข่าวแถลงการณ์สวรรคตจากโทรทัศน์หน้าร้านเสริมสวย แค่ตัดจอดำ เจ้าของร้านคือกรี๊ดแบบตกใจที่สุดในชีวิตแล้ว เมื่อแถลงจบ ผมรู้สึกเหมือนโลกหยุดหมุน เหมือนไม่เหลืออะไร เหมือนทุกสิ่งกลายเป็นความว่างเปล่า คือเราเกิดมาในยุคแผ่นดินของท่าน เราเกิดมาเราก็เห็นท่านทรงงาน เราไม่เคยอยู่โดยที่ไม่มีท่าน และนับตั้งแต่วันนั้น ร้านผม…เป็นเดือนๆ นะ ที่ลูกค้าเข้ามาแล้วแค่…ผลักประตูมา น้ำตาก็นองหน้า คือทุกคนที่เข้ามา รักท่าน คิดถึงท่าน เราพูดกันไม่ออก เราได้แต่ร้องไห้”

มีคำถามจากสื่อที่เคยสัมภาษณ์เขาไว้ ว่าหลังจากเสด็จสวรรคต กรอบรูปของเขาขายดีขึ้นไหม…อดิสรตอบว่า เขาไม่เคยคิดจะใช้ห้วงเวลาอันโศกสลดนี้ในการทำกำไร เขาลดราคากรอบที่บรรจุพระบรมฉายาลักษณ์ลงมามากจนลูกค้าเก่าถึงกับออกปากถาม

“เพราะผมอยากให้คนที่อยากได้ ได้ไว้บูชาให้ได้มากที่สุด อีกทั้งผมยังทำแจกไปไม่น้อยอีกด้วย”

เข้าวันถัดมา หลังการเคลื่อนพระบรมศพมาสถิตในพระบรมมหาราชวัง เขาและภรรยาไปแต่เช้ามืด กราบลงกับพื้นหน้าพระบรมมหาราชวัง ส่งใจไปถวายบังคมด้วยความโศกเทวษอย่างหาที่เปรียบไม่ได้…ทั้งน้ำตา

“หลังจากนั้น เป็นสิบๆ วัน ผมไปทุกวัน ผมเห็นสิ่งที่ผมทึ่ง คนไทยมาจากทุกภาค ไกลแค่ไหนก็มา มาถวายบังคม มารำลึกถึงท่าน ผมเห็นน้องๆ สายมอเตอร์ไซค์รวมตัวกัน รวมเงิน ซื้อขนมปัง ซื้อยาดมมาแจก น้องม.ต้น ควักเงินไปซื้อยาดม ได้ไม่กี่หลอดหรอก แต่ก็เดินไปมอบให้คนที่มาเข้าแถว เพื่อมาถวายบังคมพระองค์ท่าน”

ในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ เขาและภรรยา ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เข้าไปส่งเสด็จสู่สวรรคาลัยให้ได้ แม้กระทั่งต้องปีนแผ่นสังกะสีก็ตาม

“วันนั้นมันแปลก ฝนตกหนักมาก ฝนตกหนักเป็นระยะรอบวัน แต่เชื่อไหม ที่แปลกกว่า คนไทยที่มารวมกันเป็นหมื่นเป็นแสนคน ฝนไม่กลัว เปียกแค่ไหน นองแค่ไหน นองพื้นจนนั่งอยู่ในแอ่ง ก็ช่วยกันเอามือวัก เอามือไปกวาดเก็บขยะเก็บใบไม้ให้น้ำลง จนน้ำแห้ง รอกันข้ามคืน ไปจรดอีกคืน เพื่อรอส่งพระองค์ท่านเป็นครั้งสุดท้าย แดดร้อนแค่ไหนก็ไม่กลัว ดวงตาของทุกคนมุ่งมั่น และผมเห็นสามัคคีในห้วงเวลานั้น ผมเชื่อนะ ผมเชื่อว่าถ้าวันนี้ จิตอันมุ่งมั่นของคนไทยในวันนั้นยังอยู่ คนไทยที่สามัคคี คนไทยที่แดดไม่กลัว ฝนไม่เกรง ที่รักกันปรองดองกัน มอบให้ แบ่งปันแม้ไม่รู้จัก ถ้าวันนี้เรายังเป็นแบบนั้น ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่สุดยอดมาก”

อดิสรกล่าว หลังจากงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ สองปีให้หลัง เขามีโอกาสไปศิริราช และขึ้นลิฟต์ไป ณ ชั้่น16 อันเคยเป็นที่ประทับรักษาพระวรกาย ความตื้นตันไหลท่วมหัวใจ เขาถึงกับขอร้องให้คนที่เดินผ่านไปผ่านมา ถ่ายรูปเขากับประตูบานนั้น

“ผมเห็นกับตา ท่านใช้พื้นที่น้อยมาก ครึ่งเดียวของฟลอร์ อีกครึ่งก็เป็นห้องผู้ป่วยธรรมดา ท่านรบกวนประชาชนของท่านน้อยมากจริงๆ น้ำพระราชหฤทัยมหาศาลยิ่ง”

จากนั้นไม่นาน อดิสรก็พาภรรยาลัดฟ้าไปยุโรป มุ่งสู่สวิสเซอร์แลนด์ เพื่อ…”ตามรอยพ่อ”

“เราหลงทางเยอะมาก เมืองเปลี่ยนไปจากสมัยท่านอยู่ที่นั่นเยอะ เราทำการบ้านมา เรามีรูปถ่าย มีแผนที่ แต่เราก็หลงอยู่ดี เราขึ้นรถเมล์ แล้วลง แล้วขึ้นใหม่ เดินวนกันอยู่อย่างนั้น เพื่อหาแฟลตของพระองค์ จนเรามาถึงปากซอย เราพบคาเฟ่แห่งหนึ่ง เราเดินเข้าไปถามเจ้าของร้าน โดยเปิดรูปแฟลตที่พระองค์เคยประทับอยู่ในครั้งยังทรงพระเยาว์ เจ้าของร้านที่กำลังตัดเค้ก และรับลูกค้า วางของในมือ เดินออกมาจากเคาท์เตอร์ ถามเราว่า “ยูมาหาบ้านพ่อยูใช่ไหม” แล้วเค้าก็จูงมือผม พาผมเดินไปอีกสองบล็อค ก่อนจะถึงที่หมาย แฟลตที่พระองค์เคยทรงประทับ แล้วเขาก็บอกว่า “นี่ไง บ้านพ่อของยูอยู่ที่นี่” ระหว่างนั้น ผมเห็นคนไทยอีกคน น่าจะเสร็จจากการตามรอยพ่อเพื่อรำลึกถึงพระองค์เรียบร้อย เดินสวนออกไป ผมเดินไปลูบอิฐ ลูบตึก พลางรำลึกว่า ที่นี่เอง ในปีโน้น ที่ท่านประทับ ท่านเคยอยู่ที่นี่ จากนั้นผมก็ไปมหาวิทยาลัย ไปเดินขึ้นบันไดที่ผมคิดว่าท่านเคยทรงพระดำเนิน ขณะทรงศึกษา ผมนำพระบรมฉายาลักษณ์ท่าน ขึ้นรถไฟสายเบอร์ริน่า ซึ่งในประวัติศาสตร์ นี่คือเส้นทางที่เคยเสด็จพระราชดำเนิน ผมนำพระบรมฉายาลักษณ์วางที่หน้าต่าง แล้วก็ถ่ายภาพไปตลอดทางจนถึงอิตาลี แล้วก็กลับมา ไปกลับสี่ชั่วโมง”

อดิสรเล่าว่า ขณะหลงอยู่ในโลซานน์ เพื่อเดินทางตามรอยพระยุคลบาทนั้น เขาหลงจนรู้สึกเหนื่อย จึงไปนั่นพักริมทะเลสาปโลซานน์

“โลซานน์เป็นเมืองที่สวยมาก ดีมาก แล้วคิดดู ย้อนกลับไปสมัยท่าน นี่คือเมืองสวรรค์ คือปลายทางที่ผมเชื่อว่าหลายคนอยากมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ แต่ปีนั้น ผู้ที่อยู่ที่นี่ มีชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่สวยงามเหลือเกิน เลือกที่จะทิ้งความสุขและความสบาย แล้วกลับไปยังเมืองพ่อแผ่นดินแม่ เลือกที่จะทรงงานหนักแสนหนัก เดินทางไปทั่วถิ่นทุรกันดาร เลือกทางลำบากและใช้ตลอดพระชนม์ชีพเพื่ออุทิศแก่ประเทศชาติ นั่นต้องใช้ความรัก ความเสียสละ ความบำเพ็ญตนเพื่อส่วนรวมถึงเพียงไหน จึงจะทำอย่างท่านได้”

ชายผู้จงรักภักดีมิเสื่อมคลายรายนี้ ทิ้งท้ายด้วยประโยชน์เรียบง่าย แต่ฟังแล้วน่าขบคิดอย่างยิ่ง

“เป็นธรรมดาของมนุษย์ ที่มีดีชั่วปะปนกัน แต่สำหรับผม การที่ผมเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ นั่นทำให้ผมจะทำไม่ดีน้อยลง ทำให้ผมยั้งคิดมากขึ้น ก่อนที่เราจะทำอะไรที่เป็นเชิงลบ พอเราเห็นท่าน คล้ายเครื่องเตือนใจ เราจะไม่ทำ และเราจะพยายามเป็นคนดี ทำความดี ท่านไม่ได้สอนด้วยการพูดนะ ท่านทำ ท่านทำมาตลอดให้เราเห็น ผมเห็นของผมมาตั้งแต่เด็ก เห็นแค่นิดเดียวที่ออกข่าว แต่ผมเห็นท่านทุกวัน ท่านไม่เคยพัก นั่นเป็นแรงบันดาลใจ เป็นคำสอนที่ไม่ต้องมีคำพูด แต่เป็นการสอนที่ทำให้เห็น การระลึกถึงท่านเสมอ ทำให้ผมไม่โลภ ไม่เห็นแก่ตัว ซื่อสัตย์ ขยัน และรักษาหน้าที่ ท่านเป็นแบบอย่างให้พวกเราอย่างนั้น…”

ภาพหน้าปกข่าว – อดิสร ตามรอยพ่อไปจนถึงสวิสเซอร์แลนด์ ยังที่ประทับเมื่อครั้งทรงพระเยาว์
ภาพ 2 – เขามีพระบรมฉายาลักษณ์ไว้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณมากมาย จนนิตยสารบางฉบับมาขอยืมไป เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตีพิมพ์
ภาพ 3 – เขาได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นในวันรับพระราชทานปริญญา
ภาพ 4 – วันที่ต้องอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ลงจนเหลือแต่กรอบว่างเปล่า อดิสรบอกว่า เหมือนชีวิตของเขา Blank ไปในวินาทีนั้น
ภาพ 5 – ยาดมน้ำใจจากเพื่อนคนไทยผู้ไม่รู้จัก ยังคงเก็บไว้จนถึงวันนี้
ภาพ 6 – เขาอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์องค์ที่รักที่สุด ไปพร้อมพาสปอร์ต เพื่อเดินทางตามรอยพระยุคลบาท ไปยังสวิสเซอร์แลนด์
ภาพ 7 – วันแห่งความสูญเสีย เขาก้มถวายบังคมลงลงกับพื้นหน้าพระบรมมหาราชวัง
ภาพ 8 และ 9 คืนวันที่ 12 ต.ค. 59 วันที่เขาไปภาวนาที่รพ.ศิริราชกับมวลพสกนิกรผู้จงรักภักดี
ภาพ 10 อดิสรในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ