ภัยเงียบที่พ่อแม่คนไทยควรตระหนัก นอกจาการปกป้องสิทธิลูกตัวเอง โดยการหลีกเลี่ยงการโพสต์รูปลูกลงในโซเชียลมีเดียแล้ว นี่คือข้อเสีย-ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการโพสต์รูปลูกลงโซเชียล จากผู้เชี่ยวชาญ
.
พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกมาเผยถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการโพสต์รูปลูกลงโซเชียล ดังนี้
.
ก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวเด็ก- การโพสต์รูปลูกน้อยแต่ละครั้ง อาจไม่ใช่แค่การอวดภาพถ่าย แต่ยังเป็นการแสดงออกถึง “ข้อมูลพื้นฐานของเด็ก” ได้แก่ ชื่อ อายุ โรงเรียน ช่วงเวลาที่ผู้ปกครองจะไปรับเด็กที่โรงเรียน และข้อมูลชีวิตประจำวันอื่น ๆ ของเด็ก ข้อเสียที่สำคัญคือถ้าหากข้อมูลเหล่านี้ถูกเผยแพร่ไปยังผู้ที่มีความประสงค์ร้ายต่อเด็กหรือมิจฉาชีพ อาจนำไปสู่อันตรายต่อตัวเด็กเอง เช่น การสะกดรอยตาม การลักพาตัวเด็ก
.
การเลี้ยงดูที่ไม่เป็นธรรมชาติ – หลายครั้งที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองเด็กมีการโพสต์รูปลูกลงโซเชียลฯ แล้วนำไปสู่การสร้างตัวตนให้เด็ก โดยเป็นไปในแบบที่ตนเองต้องการ ทำให้ในชีวิตจริง เด็กหลายคนต้องดูดีหรือดูน่ารักตลอดเวลา ต่อหน้าสาธารณชน อาจทำให้เด็กสูญเสียความเป็นตัวเองและสูญเสียความเป็นเด็ก เนื่องจากผู้ปกครองบางรายมีการจัดการกับเด็กที่ฝืนธรรมชาติ เพื่อให้ภาพที่ออกมาดูดี ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เด็กบางคนอาจต้องการวิ่งเล่น ซุกซนตามวัย ร้องไห้ งอแง จึงอาจกลายเป็นปัญหาตามมาด้านการปิดกั้นพัฒนาการของเด็ก สืบเนื่องมาจากปัญหาการดำเนินชีวิตของเด็กที่ไม่เป็นธรรมชาติ
.
ส่งผลต่อสภาพจิตใจในอนาคตของเด็ก – พ่อแม่บางท่านโพสต์รูปลูกที่เป็นปัญหาต่อสภาพจิตใจเด็กในอนาคต เช่น รูปเด็กเปลือย เมื่ออนาคตเด็กโตขึ้น อาจถูกขุดคุ้ยภาพในอดีตที่พ่อแม่เคยโพสต์ไว้มาล้อเลียน และส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็กเมื่อโตขึ้นได้ เป็นต้น หรือเด็กหลายรายไม่ชอบที่จะโตไปแบบมีคนรู้จัก หรือมีคนทักทายตลอดเวลา
.
ข้อควรทำในการโพสต์รูปลูกลงโซเชียลมีเดีย
.

  1. พ่อแม่ควรเคารพสิทธิของเด็กในการจะโพสต์ภาพหรือข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวเด็ก ถ้าจำเป็นหรือตัดสินใจโพสต์ควรคัดสรรเนื้อหาที่เหมาะสมในการโพสต์
    .
  2. หากเด็กเริ่มรู้ความหรืออายุ 2-3 ขวบขึ้นไป ควรถามเด็กก่อนโพสต์ ว่าตัวเด็กเองชอบหรือไม่ชอบอย่างไร เด็กควรมีสิทธิในการอนุญาตก่อนโพสต์
    .
  3. ก่อนโพสต์ภาพหรือข้อมูลอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับตัวเด็ก ควรคำนึงถึงอนาคตของเด็ก และควรแทนความรู้สึกของตัวเองลงไป ว่าถ้าหากเป็นตัวเองจะชอบโพสต์นั้นหรือไม่เมื่อโตขึ้น
    .
  4. ไม่ควรเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวเด็กแก่สาธารณะ ควรตั้งค่าให้เป็นส่วนตัว หรือตั้งค่าให้เห็นเฉพาะกลุ่ม ผู้ที่เห็นข้อมูลหรือโพสต์ที่เกี่ยวกับเด็กควรเป็นคนที่ไว้ใจได้ เช่น ญาติ คนรอบข้าง ควรละเว้นการเผยแพร่ข้อมูลให้กับบุคคลแปลกหน้า
    .
    อย่างไรก็ตาม ทางเฟซบุ๊กมีนโยบาย ไม่อนุญาตให้มีการลงเนื้อหาที่มีความล่วงละเมิด หรือมีความเป็นอันตรายต่อเด็ก โดยเฟซบุ๊กได้ร่วมมือกับ ศูนย์เพื่อเด็กหายและถูกฉวยผลประโยชน์แห่งชาติ หรือ National Center for Missing and Exploited Children (NCMEC) เพื่อปกป้องสิทธิของเด็กในด้านนี้โดยเฉพาะ
    .
    ถึงแม้ว่าจะเป็นรูปของตัวเองในวัยเด็ก หรือลูกของตัวเอง ในภาพเปลือย ในเจตนาที่ดี ดูน่ารัก แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรโพสต์และจะถูกลบออกจากระบบเฟซบุ๊ก เนื่องจากโพสต์ในรูปแบบนี้อาจจะถูกผู้อื่นละเมิดและนำภาพไปใช้ในทางที่ผิดอีกด้วย
    .
    สิ่งที่ไม่ควรโพสต์เกี่ยวกับเด็กลงบนเฟซบุ๊ก
    .
  • ภาพที่เห็นหัวนมของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเด็กชาย หรือ เด็กหญิง อายุต่ำกว่า 4 ปี จะถูกมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิของเด็ก
    .
    -รูปภาพที่แสดงออกถึงการออกถึงความรัก (ในแบบที่เกินไป) ของผู้เยาว์และผู้ใหญ่ เช่นภาพจูบกันของผู้โพสต์กับผู้เยาว์ ยกตัวอย่างเช่นภาพ เราจูบที่ปากลูกชายหรือลูกสาวจะถูกระบบมองว่าเป็นการล่วงละเมิดเด็ก แต่หอมแก้มได้
    .
    -รูปภาพที่แสดงออกถึงการออกถึงความรัก (ในแบบที่เกินไป) ของผู้เยาว์และผู้เยาว์ เช่นภาพเด็กจูบกัน (ถึงจะดูน่ารัก แต่ในบางครั้งทางระบบอาจจะมองว่าเป็น การล่วงละเมิดเด็กได้)
    .
    -การโพสต์ภาพหรือข้อความในเชิงคุกคามผู้เยาว์ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม รวมไปถึงการส่งข้อความส่วนตัวด้วย
    .
    -รูปภาพและวิดีโอที่แสดงให้เห็นถึงกิริยาที่ไม่เหมาะสมในเชิงสื่อทางเพศของผู้เยาว์ (ท่าโพสถ่ายรูปบางท่าอาจจะจะถูกมองว่าเป็นการยั่วยวนทางเพศได้) ตลอดไปจนถึงภาพเปลือยด้วย (ไม่ว่าจะเป็นภาพตัวเองในตอนเด็ก หรือรูปลูกหลานของตัวเอง)
    .
    -ข้อความหรือเนื้อหาที่ยกย่อง สนับสนุน หรือแนะนำในการสร้างการโพสต์เนื้อหา ไม่ว่าจะเป็นข้อความหรือสื่อที่มีความละเมิดผู้เยาว์